ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ในคดี ' ปราสาทพระวิหาร '

on วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552


ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ในคดี ' ปราสาทพระวิหาร '
รายงานโดย โพสต์ทูเดย์
12/06/2008

หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เขียนโดย ศ.สมปอง สุจริตกุล อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำมาประกอบการชี้แจงคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. โพสต์ทูเดย์จึงนำมาเสนอ ดังนี้

ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับข่าวสารและคำวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่พาดพิงคดีปราสาทพระวิหารอย่างคลุมเครือ และโดย ที่ผมบังเอิญมีส่วนใกล้ชิดและอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหาขัดแย้งอัน ส่งผลไปถึงข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ก่อนอื่นผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพื้นฐาน บางประการที่อาจอำนวยความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนชาวไทย เกี่ยวกับสถานะและ ผลทางกฎหมายของ คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ปีค.ศ.1962 ในคดีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนปฏิบัติการและท่าทีของไทย รวมทั้งการคัดค้านคำพิพากษาและ ข้อสงวนซึ่งไทยได้แถลงต่อคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชา ชาติสมัยสามัญที่ 17 ในปีเดียวกัน

1.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่างกับศาลภายใน ในข้อที่ศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับความยินยอมจากรัฐคู่กรณีในคดีปราสาทพระวิหาร ไทยได้คัดค้านอำนาจศาลแล้วแต่แรกเริ่ม แต่ศาลได้มีคำพิพากษาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ปีค.ศ.1961 ยืนยันอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทั้งๆ ที่ได้เคยมีการกล่าวอ้างในศาลในคดีอื่นก่อนหน้านั้นว่า คำรับอำนาจศาลถาวรของไทยฉบับแรกมิได้โอนย้ายมาใช้ในศาลยุติธรรมปัจจุบัน ซึ่งรับช่วงปฏิญญารับอำนาจศาลจากศาลถาวรภายใต้องค์การสันนิบาตชาติตามความในข้อ 36 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญศาล ปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมิได้เป็นสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติมาแต่แรกเริ่มเมื่อ ค.ศ.1945

2.คำฟ้องกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่ จนครอบคลุมเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของทิวเขาพนมดงรัก ฉะนั้นการกล่าวถึง ข้อพิพาทในคดีว่าเป็น "คดีเขาพระวิหาร" หรือ "คดีประสาทเขาพระวิหาร" จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ที่ถูกต้องคือ "คดีปราสาท พระวิหาร" โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ตั้งของปราสาท

3.คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงจำกัดเฉพาะภายในกรอบคำร้อง ที่กัมพูชายื่นฟ้อง โดยไม่อาจขยายพื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ตั้งของปราสาท

4.ข้อ 59 แห่งธรรมนูญศาลกำหนดไว้ว่า คำพิพากษาของศาลไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่ง ผู้ใดยกเว้นคู่กรณี ได้แก่ ไทยและกัมพูชา และเฉพาะส่วนที่เป็นประเด็นในข้อพิพาท เท่านั้น ฉะนั้นคำพิพากษาจึงไม่อาจขยายไป ถึงคำขอขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกและไม่ผูกพันองค์การยูเนสโก หรือทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ รวมทั้งศาลซึ่งเป็นองค์กรของ สหประชาชาติและ ศาลระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ ศาลกฎหมายทะเล

5.คำพิพากษาของศาลไม่มีกลไกบังคับคดี ในทางปฏิบัติจึงไม่อาจนำมาบังคับคดีได้ แต่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามโดย ไม่ขัดขืนหรือละเมิด คำพิพากษา ไทยได้ถอนบุคลากรไทย ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาปราสาทพระวิหาร ย้ายเสาธงชาติไทยออกมานอกพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และสร้างรั้วล้อมตัวปราสาทไว้ เป็นการ ถอนการครอบครองปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา

6.เนื่องจากไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวและตั้งข้อสงวนไว้ โดยไทยถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และจะกลับไปครอบครองปราสาท พระวิหารอีกเมื่อคำพิพากษาได้รับการพิจารณาทบทวนแก้ไขอีกครั้ง

7.ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ

8.หากพิจารณาตามความเป็นจริง ทางภูมิศาสตร์ กัมพูชาไม่อาจ เข้ามาครอบครองปราสาทพระวิหารได้โดยง่าย เพราะทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน การเดินทางไปปราสาท พระวิหารของกัมพูชาจึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่านประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปรากฏว่าไทยได้ ปล่อยปละละเลยและไม่ เข้มงวดในการสงวนเส้นทางซึ่งเป็นของไทย และปล่อยให้ชาวกัมพูชาผ่านไปมาโดยเสรี ไม่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือเก็บค่า ผ่านทางแต่ประการใด ฉะนั้นจึงสมควรที่จะนำมาตรการที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเข้าออกประเทศมาใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกัน มิให้เกิดการเข้าใจ ผิดและถือสิทธิอันมิชอบ ทั้งนี้โดยยึดหลักการปักปันเขตแดนดั้งเดิม ตามเส้นสันปันน้ำซึ่งไม่มีการทับซ้อนโดยเด็ดขาด

9.คำพิพากษาของศาลในคดีนี้มิได้เป็น คำพิพากษาเอกฉันท์ เนื่องจากมีเสียงข้าง มากเพียง 9 ต่อ 3 และ 7 ต่อ 5 ในบางประเด็น จึงถือได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ของศาลยังมีความเห็นว่าไทยสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้โดยที่กฎหมายระหว่าง ประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่ความเห็นจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาแย้ง ที่มีเหตุผลอาจเป็นที่ยอมรับนับถือและปฏิบัติตาม

10.หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นได้ว่าศาลเชื่อในหลักการว่า สันปันน้ำยังคงเป็น เส้นแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก เส้นสันปันน้ำที่เขา พระวิหารอยู่ที่ขอบหน้าผา ฉะนั้นถ้าจะมีการสำรวจใหม่ เส้นแบ่งเขตน่าจะเป็นเช่นเดิม โดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ปราสาทพระวิหารจึงอยู่ในเขตไทย

11.เพื่อความเข้าใจในคำพิพากษาอย่างแจ่มแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาโดยอ่าน อย่างละเอียดเริ่มแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่ หน้า 1 ถึงหน้า 146 เป็นคำพิพากษา โดยรวม ประกอบด้วยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาแย้ง และคำพิพากษาเอกเทศ จึงจำเป็นต้องอ่านโดยตลอดจึงจะเห็นภาพ รวมที่สมบูรณ์
ผมได้ตั้งข้อสังเกตข้างต้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจภูมิหลัง จุดยืนและข้อเท็จจริงตลอดจนหลักกฎหมายที่ถูกต้องในส่วนของไทย ก่อนที่จะชี้แจงหรือโต้แย้งกับ ฝ่ายกัมพูชา ซึ่งต้องดำเนินตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย โดยที่กัมพูชาเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมอาเซียน จึงควรที่จะเปิดการเจรจาอย่างสันติวิธีและเที่ยงธรรม โดยอาศัยกฎหมายและ ข้อเท็จจริงเป็นหลัก

อนึ่ง ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นคดี "ปราสาทพระวิหาร" ทั้งในภาษาไทย อังกฤษ และ ฝรั่งเศส หาใช่คดี "เขาพระวิหาร" หรือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไม่
 
               ด้วยจืตรคารวะครับ.
 
       ประชุม สุริยามาศ วย.๗๗๗


Your E-mail and More On-the-Go. Get Windows Live Hotmail Free. Sign up now.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น