เขื่อนราษีไศล–เขื่อนหัวนา บาดแผลจากโครงการโขง ชี มูล ที่รอเยียวยา

on วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

เขื่อนราษีไศล–เขื่อนหัวนา บาดแผลจากโครงการโขง ชี มูล ที่รอเยียวยา

เรื่องโดย : สนั่น ชูสกุล : http://www.esanvoice.net





คนอีสานมีความหวังทุกปีเพราะธรรมชาติกำหนด สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อหลายล้านปีก่อน ทำให้ผืนดินแห่งนี้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ แม้ว่าจะมีแม่น้ำขนาดใหญ่และลำสาขานับหมื่นแห่งก็ตาม รัฐบาลทุกสมัยมีแนวคิดการจัดการน้ำแบบกักเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมาก เขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ และฝายน้ำล้นจำนวนมาก นับไม่ถ้วนจึงเกิดขึ้นพร้อมกับ แม่น้ำสายหลัก ลำสาขา ห้วย หนอง คลอง บึงธรรมชาติ ถูกขุดลอก กักกั้น เพื่อกักเก็บด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย และโครงการขุดลอกต่างๆ จนหมดสิ้น เพื่อทำให้แผ่นดินอีสานเขียวขจี ผู้คนไร้ความยากจน

ปี ๒๕๓๒ ความหวังครั้งใหญ่ของคนอีสานกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยโครงการโขง ชี มูล

คนอีสานดีใจหนักหนา แผ่นดินอีสานกำลังจะกลายเป็นสีเขียว เพราะโครงการโขง ชี มูล

เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ด้วยการสนับสนุนและผลักดันของนายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น ได้เสนอโครงการโขง ชี มูล ให้คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารและระบบส่งน้ำชลประทานให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี คือ พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๕ (วราลักษณ์ อิทธิพลโอฬาร,๒๕๓๘-๒๕๓๙) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรประมาณ ๔.๙๘ ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๕ จังหวัด (ยกเว้น นครพนม มุกดาหาร สกลนครและหนองบัวลำภู) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๒๒๘,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งระยะการพัฒนาโครงการ ฯ ออกเป็น ๓ ระยะ ใช้เวลาดำเนินการ ๔๒ ปี (๒๕๓๔ - ๒๕๗๖) ดังนี้

การดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ - ปัจจุบัน กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ก่อสร้างเฉพาะฝายและระบบชลปะทานในลุ่มน้ำมูน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาตามแผนระยะที่ ๑ จำนวน ๑๔ โครงการ ในวงเงินประมาณ ๙,๙๙๖ ล้านบาท , โครงการชลประทานรอบอ่างห้วยหลวงในวงเงิน ๓๕๐ ล้านบาท รวม ๑๐,๓๔๖ ล้านบาท พื้นที่เพาะปลูก ๕๑๐,๔๘๐ ไร่ และเมื่อรวมกับเงินงบประมาณที่อนุมัติครั้งแรก ๑๘,๐๐๐ บาท โครงการโขง ชี มูล จึงได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการทั้งสิ้น ๒๘,๓๔๖ ล้านบาท ปัจจุบันการดำเนินโครงการระยะที่ ๑ ได้เสร็จสิ้นแล้ว มีการก่อสร้าง ๑๔ โครงการย่อย คือ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูน ๖ เขื่อน คือ เขื่อนชุมพวง เขื่อนบ้านเขว้า เขื่อนตะลุง เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา แม่น้ำชี ๘ คือ เขื่อนวังยาง เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนยโสธร เขื่อนชนบท และเขื่อนมหาสารคาม เขื่อนหนองหานกุมภวาปี เขื่อนลำเซบก เขื่อนลำโดมใหญ่

แม้ว่าในปี ๒๕๓๖ คณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้มีการชะลอโครงการไว้ เพราะจะเกิดปัญหาผลกระทบการแพร่กระจายดินเค็มในภาคอีสาน และให้ปรับปรุงรายงานหลายเรื่อง แต่โครงการก็ยังได้รับการอนุมัติและดำเนินโครงการในระยะที่ ๑ เกือบเสร็จทุกโครงการ

๑. โครงการเขื่อนราษีไศล

เขื่อนราษีไศล เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๕ แล้วเสร็จและทำการเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๖ ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดความสูง ๙ เมตรปิด-เปิดด้วยบานประตูเหล็ก ๗ บาน ควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิค สร้างปิดกั้นลำน้ำมูนที่บ้านปากห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และมีการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำ (dike) ระดับความสูง ๑๒๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เพื่อกั้นพื้นที่น้ำหลากท่วมสองฝั่งแม่น้ำ เป็นระยะทาง ๔๕.๘ กิโลเมตร ระดับการเก็บกักน้ำสูงสุด ๑๑๙ ม.รทก. ขณะที่พื้นที่ท้องน้ำเท่ากับ ๑๑๐ ม.รทก. จะช่วยยกระดับน้ำในลำน้ำมูนเป็นระยะทาง ๑๒๐ กิโลเมตร และลำสาขา คือห้วยทับทัน ๒๖ กิโลเมตร ลำน้ำเสียว ๑๕ กิโลเมตร ห้วยน้ำเค็ม ๕ กิโลเมตร และลำพลับพลา ๗ กิโลเมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๒๐ ตารางกิโลเมตร (๑๒,๕๐๐ ไร่) สามารถเก็บกักน้ำได้ ๗๔.๔๓ ล้านลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ชลประทานตามแผนในระยะแรก ๓๔,๔๒๐ ไร่ และในอนาคตเมื่อมีการผันน้ำมาจากแม่น้ำโขงจะได้พื้นที่ชลประทานจำนวน ๑๔๓,๒๖๐ ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ชลประทานทั้งหมด ๒๒๘,๐๐๐ ไร่ โครงการมีแผนการก่อสร้างเป็นเวลา ๖ ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๕ – ๒๕๔๑ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๘๗๑.๙ ล้านบาท

หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนราษีไศลได้ทดลองกักเก็บน้ำในเดือนตุลาคม ๒๕๓๖ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูนได้รับผลกระทบอย่างหนัก พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทัน ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เครือข่ายชาวบ้านลุกขึ้นเคลื่อนไหวเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหา การนำน้ำจากเขื่อนราษีไศลยังไม่สามารถให้ผลประโยชน์ทางชลประทานได้ เนื่องจากระบบการกระจายน้ำที่ไม่เสร็จ และความเค็มของน้ำเป็นปัญหาต่อการผลิตของชุมชนที่อยู่รอบเขื่อน แต่การกักเก็บน้ำทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศน์อย่างหนัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

๑.๒ ผลประโยชน์จากเขื่อนราษีไศล

ในเอกสารสรุปผลการวิเคราะห์ปัญหาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าชดเชยที่ดินโครงการฝายราษีไศล ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังระบุว่า เขื่อนจะเก็บกักน้ำได้ ๗๔.๔๓ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ๗๙,๑๒๐ ไร่ ในฤดูแล้ง ๒๘,๔๒๕ ไร่ และถ้ามีการสูบน้ำโขงเข้ามาจะได้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ๒๘๘,๐๐๐ ไร่ ฤดูแล้ง ๖๔,๑๐๐ ไร่

เอกสารดังกล่าว สรุปผลประโยชน์ที่เกิดในช่วงเวลานั้นว่า ด้านอุปโภค บริโภค ราษฎร ๙๘ หมู่บ้าน ๔๘,๐๐๐ คน ได้ประโยชน์ และราษฎรในเขตเทศบาลท่าตูม เทศบาลราษีไศล เทศบาลกันทรารมย์ อีก ๒๔,๐๐๐ คน ได้ใช้น้ำ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ด้านการชลประทาน ระหว่างปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๓ โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเดิม ๒๐ สถานี ได้ใช้น้ำในฤดูฝน ๔๑,๗๖๐ ไร่ ฤดูแล้ง ๓,๖๗๑ ไร่

ผลประโยชน์ด้านการประมง ราษฎรทำการประมงหน้าเขื่อนมีรายได้เฉลี่ยปีละ ๔.๒ ล้านบาท (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน, ๒๕๔๓)

จากการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่พบว่า

๑. ผลประโยชน์จากการใช้น้ำของเขื่อนราศีไศลยังไม่เกิดขึ้นจริง

ผลประโยชน์จริงของเขื่อนราษีไศลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ความจริงก็คือ สถานีสูบน้ำที่สร้างใหม่ ๒ สถานี (RSP – ๒๑ และ RSP – ๒๒) ที่อำเภอรัตนบุรีและอำเภอบึงบูรพ์ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ๓๗,๓๖๐ ไร่ (เอกสารเผยแพร่ว่า ๓๔,๔๒๐ ไร่) นั้น ยังสร้างไม่เสร็จ และมีการทดลองสูบน้ำสำหรับทำนาปรังในพื้นที่ตำบลดอนแรด อ.รัตนบุรี เพียงครั้งเดียว เมื่อปี ๒๕๔๕ ประมาณ ๑๐๐ ไร่เท่านั้น

สำหรับตัวเลขพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ๔๑,๗๖๐ ไร่และ ๓,๖๗๑ ไร่ ในฤดูแล้ง ตามรายงานดังกล่าวเป็นตัวเลขตามโครงการเดิม ๒๐ สถานีสูบน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เป็นตัวเลขเต็มตามวัตถุประสงค์ที่โครงการวางไว้ ไม่ใช่ตัวเลขการใช้ประโยชน์จริง และ ๑๑ ใน ๒๐ สถานีดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนราษีไศลโดยตรง เพราะอยู่บริเวณใต้เขื่อน และเป็นพื้นที่ชลประทานของเขื่อนหัวนา (อีก ๑ เขื่อนในโครงการโขง ชี มูลเช่นกัน) ตัวเลขในรายงานดังกล่าวจึงเป็นตัวเลขเหมารวมและสำหรับโฆษณาไม่ใช่ความจริง

ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมในช่วงระยะเวลาเดียวกัน จากคำถามเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์จากการมีเขื่อนราษีไศลของครอบครัวทั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ พบว่าโดยรวมมีครัวเรือนถึงร้อยละ๖๒.๓ ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการมีเขื่อนราษีไศล โดยเฉพาะในชุมชนที่โครงการเขื่อนราษีไศลอ้างว่าจะเป็นพื้นที่รับประโยชน์ กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ ๖๗.๒ ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีผู้ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรร้อยละ ๖๐.๗ (สถาบันวิจัยสังคม, ๒๕๔๗)

๒. ประโยชน์ทางด้านการอุปโภคบริโภค ใน ๓ เทศบาลนั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะการประปาเทศบาลตำบลท่าตูม จ.สุรินทร์ ไม่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำมูนทำน้ำประปา เทศบาลท่าตูมมีอ่างเก็บน้ำสำหรับทำน้ำประปาของตนเองต่างหากเพราะเคยใช้น้ำจากลำน้ำมูนทำน้ำประปาแล้วมีปัญหาความเค็ม สำหรับเทศบาลกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นั้นอยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไปประมาณ ๘๐ กิโลเมตร (อยู่เหนือเขื่อนหัวนาประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) ส่วนเทศบาลเมืองคง อ.ราษีไศล ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไป ๕ กิโลเมตรก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนราษีไศลเช่นกัน การเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศลเสียอีกที่จะทำให้เทศบาลแห่งนี้ขาดแคลนน้ำทำน้ำประปา

๓. ด้านการประมง ที่มีตัวเลขผลประโยชน์ที่ได้รับปีละ ๔.๒ ล้านบาท อาจเปรียบกันไม่ได้เลยกับผลที่เสียไปตามที่เราทราบเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วว่า ปลาเศรษฐกิจหายไป กบและหอยหลายชนิดหายไป เครื่องมือประมงพื้นบ้านซึ่งมี ๔๗ ชนิด ส่วนใหญ่สามารถใช้ในการหาปลาในน้ำลึกได้อีกต่อไป ทั้งยังมีวัชพืชและหอยคันระบาด เป็นอุปสรรคต่อการหาปลา ปลาที่จับได้รสจืดเน่าเร็ว จากการศึกษาของโครงการทามมูล เมื่อปี ๒๕๓๘ ศึกษากลุ่มตัวอย่าง ๓๖๖ ครอบครัว ใน ๑๑ หมู่บ้าน พบว่ารายได้จากการประมง (หาปลา หอย กบเขียด) มีรายได้รวมปีละ ๓,๘๖๕,๐๔๙ บาท เฉลี่ยครอบครัวละ ๑๐,๕๖๐ บาท พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ๑๔๑ หมู่บ้าน ถ้าประมาณว่า ก่อนการสร้างเขื่อน มีคนทำการประมงสัก ๕,๐๐๐ คน ก็จะมีรายได้รวม ๕๒.๘ ล้านบาท (โครงการทามมูล, ๒๕๓๘)

๔. ศักยภาพของการใช้น้ำชลประทานในการเกษตร ถ้ามีการเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลแล้ว การใช้น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่สองฝั่งลำน้ำมูนจะเป็นอย่างไร ?

เรื่องนี้คาดการณ์ไม่ยาก เพราะประสบการณ์เดิมในพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าทั่วไปในลุ่มน้ำมูนนั้นประจักษ์อยู่ในตัว คือ ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากสถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วงเป็นหลัก เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว

ส่วนประสบการณ์การทำนาปรัง พบว่า ค่อนข้างล้มเหลวเพราะไม่คุ้มทุน การต้องซื้อน้ำลงทุนปุ๋ย ยาเคมี และมีปัญหาโรคแมลงระบาดในฤดูแล้ง และที่สำคัญ คือ เมื่อสูบน้ำจากลำน้ำมูนมาใส่นาซึ่งเป็นนาดินทรายซึ่งมีชั้นเกลืออยู่ใต้ดินผสมกับความเค็มที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจากลำน้ำมูน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มจนข้าวเสียหาย และต้นไม้ในนายืนต้นตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวบ้านจึงไม่นิยมนำน้ำจากแม่น้ำมูนมาทำนาปรัง ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งจะเกิดผลน้อยมาก

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริงจึงเหลือเพียงการสูบน้ำในแม่น้ำมูนใช้ในการทำนาในฤดูฝนทิ้งช่วง ซึ่งเกิดขึ้นประมาณเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งในฤดูดังกล่าวในลำน้ำมูนจะมีน้ำเพียงพอสำหรับให้สถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าใช้สูบให้กับชาวนา นั่นหมายถึงไม่ต้องมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราศีไศลแต่อย่างใด

๕. การจัดหาพื้นที่ชลประทานของเขื่อนราษีไศล ลงทุนไร่ละเท่าไหร่?

ค่าก่อสร้างเขื่อนราษีไศลตามโครงการ ๘๗๑ ล้านบาท เพื่อการจัดหาพื้นที่ชลประทาน ๓๔,๔๒๐ ไร่ นั้นเท่ากับว่าไร่หนึ่งต้องลงทุน ๒๕,๓๐๕ บาท

ในความจริง เขื่อนราษีไศลได้จ่ายค่าชดเชยไปแล้ว ๒ ครั้ง จำนวน ๔๒๐,๙๒๕,๓๔๔ บาท และต้องจ่ายอีกสำหรับผู้เดือดร้อนที่เหลืออยู่ ถ้าต้องจ่ายอีก ๕๒,๐๐๐ ไร่ (ตัวเลขการตรวจสอบพื้นที่ทำกินล่าสุด มีนาคม ๒๕๔๘) ไร่ละ ๓๒,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๖๖๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าก่อสร้างและการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดเป็นเงิน ๒,๙๕๖,๘๒๕,๓๔๔ บาท โดยยังไม่คิดค่าดูแล ซ่อมแซมตลอดอายุเขื่อน ค่าศึกษาผลกระทบ ออกแบบ วางแผนแก้ผลกระทบ และงบโฆษณาประชาสัมพันธ์

นั่นจะเท่ากับว่าเขื่อนราษีไศลอาจจะต้องจ่าย ๘๕,๙๐๔ บาท เพื่อจัดหาพื้นที่ชลประทาน ๑ ไร่ และนั่นคือราคาที่มีประสิทธิภาพการใช้งานของระบบชลประทานอยู่ที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกันไม่ได้กับการลงทุนของระบบชลประทานในพื้นที่ทามของชาวบ้านหนองแค – สวนสวรรค์ ที่ลงทุนในการทำโครงสร้างระบบชลประทานราคาเฉลี่ยเพียงไร่ละ ๗๘๓.๓๐ บาทเท่านั้น

๖. ในปัจจุบันที่การก่อสร้างเขื่อนราษีไศลผ่านมาแล้ว ๑๕ ปี ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงคือใคร ?

ในขณะที่ผลประโยชน์ทางตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ ธุรกิจท่าทรายและการเลี้ยงปลาในกระซัง

หลังจากมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศล ในปี ๒๕๓๖ ธุรกิจท่าทรายเติบโตเป็นอันมากโดยที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนสูงตลอดปี สะดวกต่อการใช้เรือดูดทราย มีธุรกิจท่าทราย ๕ ท่าในปัจจุบันที่ทำธุรกิจดูดทรายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นธุรกิจของนักการเมืองใหญ่ระดับชาติ นักธุรกิจท่าทรายจึงมีพลังในการล่ารายชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ให้เปิดบานประตูเขื่อนให้มีการปิดเขื่อนครั้งใหม่ เมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ผู้ได้ประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลในกระซังที่บ้านดงแดง ตำบลด่าน ซึ่งอยู่ห่างจากหัวงานเขื่อนไปทางเหนือน้ำประมาณ ๗ กิโลเมตร ประมาณ ๑๐ ราย เริ่มเลี้ยงมาหลังจากมีการเก็บกักน้ำ กลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการเก็บกักน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจำนวนหลายพันครัวเรือนอย่างสิ้นเชิง

๑.๔. ผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล

๔.๑ การสูญเสียที่ดินทำกินของราษฎร พื้นที่บุ่งทามในบริเวณที่เขื่อนราษีไศลใช้เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งที่ราษฎรสองฝั่งลำน้ำมูนครอบครองและทำประโยชน์มาตามครรลองจารีตประเพณีอย่างยาวนาน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ ๒๕ กิจกรรม เมื่อเขื่อนราษีไศลกักเก็บน้ำเมื่อปลายปี ๒๕๓๖ น้ำได้ท่วมที่ทำกินนับตั้งแต่ที่ต่ำ คือ กุด หนอง เลิง ที่ใช้ทำนาทาม และที่โนนที่ใช้ทำข้าวไร่และพืชไร่ บางบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงก็กลายเป็นการไม่สามารถเดินทางหรือนำเครื่องมือไปทำการผลิตใด ๆ ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากตามมาเมื่อราษฎรได้เรียกร้องให้โครงการแก้ปัญหา เพราะไม่มีหลักฐานที่เป็นทางการ คือ เอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดิน

ในปี ๒๕๔๒ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาพบว่า ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล มีครัวเรือนที่นาทามสูญเสียราว ๗,๘๕๖ ครัวเรือน พื้นที่นาทามที่ถูกน้ำท่วมราว ๔๖,๙๓๗ ไร่ ใน ๙ ตำบล ผลผลิตข้าวนาทามเปรียบเทียบระหว่างปี ๒๕๓๕ (ก่อนเก็บกักน้ำ) กับปี ๒๕๔๒ รายได้หลักของครัวเรือนที่ทำนาทามลดลงราวปีละ ๑๑,๕๒๐ บาท ผลผลิตรวมโดยประมาณที่ลดลงคือราว ๕๔๐ ล้านต่อปี (สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ, ๒๕๔๗ : ๔ – ๔๒) ปี ๒๕๔๗ ภายหลังกรมชลประทานเข้ามารับผิดชอบเมื่อปี ๒๕๔๕ กรมชลประทานได้ระบุว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่

๔.๒ การสูญเสียพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ เศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ชุมชนต้องสูญเสียอย่างหนักคือ อาชีพการเลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนร้อยละ ๙๐ เลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนละตั้งแต่ ๑๐-๓๐ ตัว พื้นที่บุ่งทามเป็นทำเลที่กว้างขวาง มีพืชอาหารสัตว์หลากหลายและเพียงพอ มีแหล่งน้ำและที่พักสัตว์ ชุมชนแถบนี้มีแบบแผนการเลี้ยงแบบเฉพาะตัวและมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ปริมาณการเลี้ยงวัวควายลดลง ชาวบ้านต้องขายไปเพราะไม่มีที่เลี้ยง ส่วนที่เหลือต้องหาที่เลี้ยงใหม่ ทั้งในทุ่งนา ป่าโคก และเลี้ยงที่บ้าน ข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคมระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการสร้างเขื่อน (ระหว่างปี ๒๕๓๕ – ๒๕๔๒) จากการที่ทามถูกน้ำท่วมทำให้การเลี้ยงวัวในพื้นที่บุ่งทามลดลงร้อยละ ๗๕.๔ เปลี่ยนมาเลี้ยงที่บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔๖.๗ จำนวนผู้เลี้ยงวัวลดลง ร้อยละ ๑๔.๙ และจำนวนผู้เลี้ยงควายลดลงร้อยละ ๗๗.๖ (สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ , ๒๕๔๗ : ๑๒)

๔.๓ ปัญหาพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมนานอกอ่างเก็บน้ำ คันดินกั้นน้ำ (Dike) ของเขื่อนราษีไศล ซึ่งก่อสร้างขนาบสองฝั่งแม่น้ำมูนรวมทั้งสองฝั่งเป็นความยาวทั้งสิ้น ๔๕.๘ กิโลเมตร ข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ เมื่อปี ๒๕๔๐ พบว่า คันดินดังกล่าวปิดกั้นน้ำจากที่สูงไม่ให้ไหลลงแม่น้ำมูนได้ดั่งเดิม ส่งผลให้น้ำท่วมนาบริเวณนอกอ่างเก็บน้ำเกือบทุกพื้นที่ ราษฎรที่มีที่นาอยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องประสบความเดือดร้อนทุกปี คณะกรรมการจึงมีมติให้แก้โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรบนคันดิน ๗ จุด ซ่อมและเสริมคันดินอีก ๑ และ ๒ จุดตามลำดับ และตั้งอาสาสมัครชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนถึงปัจจุบัน

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ การสร้างคันดินกั้นน้ำปัญหาในบริเวณที่มีการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำเป็นขอบเขตชัดเจนนั้นมีการก่อสร้างในพื้นที่เหนือเขื่อนนับระยะทางได้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปเป็นระยะทาง ๗๐-๘๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บกักน้ำของเขื่อน ในบางพื้นที่ เช่น ตำบลยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เขื่อนราษีไศลกำหนดเอาฝั่งแม่น้ำมูนเป็นขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ทุ่งนาไกลฝั่งออกไปมีระดับความสูงที่ ๑๑๗ ม.รทก. ต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน (๑๑๙ ม.รทก.) จึงประสบกับน้ำท่วมนาทุกปีเช่นกัน

พื้นที่ที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบสิบตำบล ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในฤดูน้ำหลากเช่นกัน ขณะที่ก่อนการสร้างเขื่อน การทำนาในพื้นที่ทามและในนาทุ่งที่สูงขึ้นไปมักต้องถูกน้ำท่วม แต่เป็นการท่วมในระยะ ๑-๒ สัปดาห์เท่านั้น ต้นข้าวในนายังไม่ตายและสามารถฟื้นคืนได้ แต่หลังการก่อสร้างเขื่อน แรงอัดเอ่อของน้ำทำให้เกิดการท่วมยาวนานถึง ๑-๓ เดือน

ความจริงประการหนึ่ง คือ เดิมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ความกว้างของทางเดินน้ำบริเวณก่อสร้างเขื่อนคือบุ่งทามกว้างประมาณ ๖ กิโลเมตร เมื่อมีการสร้างเขื่อน มีการสร้างเขื่อนดินเป็นถนนฝั่งซ้ายแม่น้ำมูนยาว ๕ กิโลเมตร ฝั่งขวายาว ๑ กิโลเมตร ปิดกั้นพื้นที่น้ำหลาก โดยไม่มีช่องระบายน้ำใด ๆ เลย มีแต่ประตูระบายน้ำที่หัวงานเขื่อนเพียง ๗ บาน กว้างบานละ ๑๒.๕ เมตร รวมเป็น ๘๗.๕ เมตร น้ำที่เคยมีทางระบาย กว้าง ๖ กิโลเมตร (๖,๐๐๐ เมตร) กลับเหลือช่องไหลเพียง ๘๗.๕ เมตร ในฤดูน้ำหลากน้ำจึงไหลไม่ทันและก่อผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพื้นที่เหนือเขื่อนขึ้นไปนับ ๑๐๐ กิโลเมตร

๔.๔ การสูญเสียป่าบุ่งป่าทามแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่บุ่งทามถือได้ว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญของภาคอีสาน ของประเทศและของโลก มีภูมิสัณฐานที่หลากหลายอันเกิดจากอิทธิพลของสายน้ำ จำนวน ๑๙ ลักษณะ เช่น บุ่ง ทาม วัง ฮองหรือร่องน้ำ คุย วัง เวิน มาบ เลิง ดูน ซำ คำ หนอง บวก ปาก กุด แก้ง ฯลฯ ส่งผลให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในแต่ละบริเวณ และมีวงจรห่วงโซ่อาหารอันละเอียดซับซ้อน สัมพันธ์กับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ในฤดูแล้งพื้นดินมีโอกาสได้ตากแห้ง วัชพืชน้ำตายลง ถูกแผดเผาโดยแสงแดดจนแห้งรอเปื่อยเป็นอาหารพืชสัตว์ จะเป็นที่อาศัย หากินและแพร่พันธุ์ของสัตว์บก มดปลวก แมลง และเป็นที่จำศีลของกบเขียดและหอย เมื่อถึงฤดูน้ำหลากนอง สัตว์เล็ก แมลงและผลไม้ เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นอาหารอันโอชะของปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาหากินและวางไข่ในพุ่มไม้อย่างปลอดภัย เหตุนี้จึงมีการเรียกพื้นที่นี้ว่า "มดลูกของแม่น้ำ"

วงจรของธรรมชาติในพื้นที่ป่าบุ่ง ป่าทาม อยู่บนเงื่อนไขที่ต้องมีฤดูน้ำหลากท่วมสลับกับฤดูแล้ง ทำให้เกิดวิวัฒนาการของพืชสัตว์ที่มีดุลยภาพในตัวเอง แต่เมื่อกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถาวร มวลชีวิตที่มีวงจรระบบนิเวศน์เฉพาะดังกล่าวก็ไม่สามารถดำเนินวงจรชีวิตของตนต่อไปได้

ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำอาณาเขตเกือบแสนไร่แห่งนี้ มีสภาพนิเวศน์แบบต่าง ๆ หลากหลายสลับกันไป โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ แหล่ง และระบบภูมิสัณฐาน ๑๙ แบบ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพต้องจมอยู่ภายใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล พบว่า มีพันธุ์พืชในพื้นที่บุ่งทามจำนวน ๒๕๐ ชนิด แยกเป็น ไม้ยืนต้น ๖๗ ชนิด ไม้พุ่ม ๓๓ ชนิด ไม้เลื้อย ๕๑ ชนิด ประเภทเป็นกอ ๔๓ ชนิด พืชน้ำ ๒๔ ชนิด เห็ด ๓๒ ชนิด เมล็ดพันธุ์ ๔๗ ชนิด (งานวิจัยไทบ้านราษีไศล, ๒๕๔๘) พืชที่เป็นสมุนไพร ๕๗ ชนิด (สนั่น ชูสกุลและคณะ,๒๕๔๐) สัตว์ป่า พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๑๐ ชนิด ใน ๔ วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน ๒๑ ชนิด ใน ๙ วงศ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๑๓ ชนิด ใน ๖ วงศ์ และนก ๕๓ ชนิด ใน ๓๑ วงศ์ (ประสิทธิ์ คุณุรัตน์,๒๕๓๖.)

ด้านพันธุ์ปลา (วิจัยไทบ้านราษีไศล,๒๕๔๘) พบว่า ในลำน้ำมูนและบริเวณบุ่งทาม มีปลาที่พบ ๑๑๒ ชนิด ในช่วงที่มีการเก็บกักน้ำ พบพันธุ์ปลา ๑๐๐ ชนิด แต่ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงจนหายากมาก จนมีคำพูดว่า "มีเหมือนไม่มี" ปลาที่สูญพันธุ์ และปลาหายากเป็นปลาอพยพ และล้วนเป็นปลาที่สร้างเศรษฐกิจรายได้แก่ชุมชน เช่น ปลาแข่เหลือง ปลาเคิงดำ ปลาจอก ปลาจอกขาว ปลาจอกดำ ปลาซวยหางแดง ปลาเผียะขาว ปลาสูดหางขาว ปลาหมากผาง ปลาสบ เมื่อมีการเปิดบานประตูเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ปรากฏว่าปลาเหล่านี้กลับคืนมา ยกเว้น ปลาขบ ปลาแข่เหลือง ปลาซวยหางแดง และปลาเพียะขาว

อนึ่ง หลังมีการเก็บกักน้ำใหม่ ๆ ในปี ๒๕๓๗ สงกรานต์ มีงาม โครงการทามมูล ได้ศึกษาพบว่าปลา ๓๗ ชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แต่จำพวกปลาชะโด ปลาปักเป้า เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน และปลาที่จับได้รสชาติเปลี่ยนไป มีกลิ่นคาวจัด เนื้อเหลว เน่าง่าย และมีเห็บปลาระบาด บางแห่งจะพบปลาขาวสร้อยลอยตายเป็นแพเพราะขาดออกซิเจน ทรัพยากรทางชีวภาพเหล่านี้ต้องจมหายไปกับอ่างเก็บน้ำ บางชนิดเกิดการสูญพันธุ์และเกิดเป็นพิษต่อมนุษย์แทนที่

๔.๕ การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม พื้นที่ราษีไศลเป็นพื้นที่ตอนล่างซึ่งเป็นแอ่งรับน้ำเค็มจากห้วยก๊ากว้าก ลำน้ำเสียว ทุ่งกุลาร้องไห้ และความเค็มจากการทำนาเกลือจากพิมาย-โนนไทย ในฤดูน้ำหลาก เกลือที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจะถูกน้ำนำพาไปสู่ปลายน้ำ ไม่มีผลกระทบใดๆ เมื่อถึงฤดูแล้งจะมีส่าเกลือตกค้างอยู่บนผิวดินทามทั่วไป ชาวบ้านใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับต้มเกลือจนชุมชนแถบนี้สามารถพึ่งพิงตนเองได้ในเรื่องเกลือ มีแบบแผนการต้มเกลือสืบต่อกันมาถึงขนาดเกิดความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการต้มเกลือที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ในบริเวณขอบเขตบุ่งทามที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำราษีไศลมี "บ่อเกลือ" นับได้ประมาณ ๑๕๐ บ่อ แต่ละแห่งมีพื้นที่กว้างตั้งแต่ ๑๐ ไร่ ถึง ๑๐๐ ไร่ (งานวิจัยไทบ้าน ๒๕๔๘) นอกจากนั้น ส่าเกลือหรือโป่งเกลือ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ขี้ตำปวก" เป็นอาหารของปลาจำนวนมากที่ว่ายทวนน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อมาวางไข่และอาศัยอยู่ในป่าทามลุ่มน้ำมูนตอนกลางในช่วงฤดูน้ำหลากอีกด้วย

เมื่อพื้นที่บุ่งทามกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ปริมาณความเค็มจากเกลือก็ถูกสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำนั่นเอง ในปี ๒๕๓๘ กรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจผลกระทบแล้วสรุปว่า หลังการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศล เกลือถูกสะสมในพื้นที่เหนือเขื่อนมากขึ้นเพราะไม่สามารถระบายออกจากระบบได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกตามปกติได้ ทั้งนี้ มีผลการวิเคราะห์ทั้งในบริเวณเขื่อนในช่วงแล้งมีความเค็มระดับสูง นำน้ำไปใช้ทำการเกษตรไม่ได้ ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำที่ชาวบ้านเคยสูบน้ำขึ้นมาทำนาปรังและปลูกพืชผักในฤดูแล้ง หลังมีการเก็บกักน้ำในปี ๒๕๓๖ ปรากฏว่า พืชผักที่รดน้ำพากันเหี่ยวเฉาตายทั้งแปลงเพราะผลจากน้ำเค็ม ในพื้นที่การทำนาปรังมีความเค็มปนเปื้อนจนต้นข้าวตาย และเมื่อน้ำในแปลงนาแห้งลงก็ปรากฏส่าเกลือตกค้างอยู่ในนา ต้นไม้ธรรมชาติในแปลงนาก็ตายลงจำนวนมาก (กรมพัฒนาที่ดิน, ๒๕๓๘ ใน วราลักษณ์ อิทธิพลโอฬาร, ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙)

จากการศึกษาแผนที่การกระจายดินเค็มเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในขอบเขตอ่างเก็บน้ำราษีไศลมีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ข้างใต้เป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๐ ตารางกิโลเมตร และนอกจากนั้นเขื่อนราษีไศล ก็ได้ทำลายอาชีพและวัฒนธรรมการต้มเกลือของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องหันไปพึ่งเกลือดิบจากตลาดมาบริโภค และก็มีอาการแพ้ คันตามเนื้อตัว เอามาทำปลาแดกก็เก็บไว้ได้มานาน หมดยุคของการต้มเกลือพื้นบ้านไปแล้ว นายหมื่น สุปรีชา บ้านผึ้ง หมู่ ๔ ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า "ในอดีตชาวบ้านผึ้งและบ้านใกล้เคียงเคยต้มเกลือกินในพื้นที่ใกล้มูลที่ชาวบ้านใช้เป็นบ่อเกลือหน้าดินมาต้มกินนานหลายชั่วอายุคน ในแถบนี้มีเป็นร้อยบ่อ ชาวบ้านไม่เคยต้องซื้อเกลือกิน และประสบการณ์จากการสร้างคลองชลประทานสูบน้ำจากมูนขึ้นมาใช้ในหน้าแล้งที่ผ่านมาไม่ได้ผลเพราะน้ำมูนหน้าแล้งมันเค็ม สูบขึ้นมารดพืชผักก็บ่เป็นผล ชาวบ้านผึ้งเคยสูบน้ำเฮ็ดนาปรัง พอฮอดปีหลังมาดินในที่นาก็เกิดคราบเกลือขึ้น ชาวบ้านแถวนี้ก็เลยเลิกใช้น้ำคลองอีกเดี๋ยวนี้คลองกลายเป็นคลองลม ปล่อยทิ้งไว้ซือ ๆ (ทิ้งไว้เฉย ๆ) ชาวบ้านก็สงสัยว่าถ้าตันเขื่อนแล้วน้ำจะเค็มเหมือนก่อน แต่ทางฝาย (เจ้าหน้าที่ฝาย) เพิ่นบอกว่าตะกี้น้ำน้อย น้ำเลยเค็ม ถ้าตันเขื่อนแล้วน้ำหลายขึ้นเกลือก็จะเจือจางเหมือนเราเอาน้ำใส่แก้วละลายเกลือ ถ้าใส่น้ำหลาย ๆ น้ำก็บ่เค็ม เพิ่นว่าอย่างนั้น แต่พอตันเขื่อนขึ้นแล้วมันบ่เป็นคือเพิ่นว่า (ไม่เป็นอย่างเขาว่า) นาของพ่อที่ติดมูนเนินไหนที่ถูกท่วมแล้วน้ำลดลงปล่อยไว้บ่ถึงมื้อ แดดส่องมาเห็นคราบเกลือขึ้นขาวจานพาน (ปล่อยไว้ไม่ถึงวัน แดดส่องมาเห็นคราบเกลือขึ้นขาวไปทั่ว) สังเกตได้เลยว่าหลังจากเขื่อนตันน้ำมา น้ำท่วมถึงหม่องได๋เกลือแผ่ไปหม่องนั่น (น้ำท่วมถึงที่ไหนเกลือแพร่ไปถึงที่นั่น) และเบิ่งจากคันแทนา (คันนา) ตะกี้มีหญ้าขึ้นหลายเดี๋ยวนี้คันนาที่ติดน้ำท่วมหญ้าเหลืองตายหมด" (หมื่น สุปรีชา บ้านผึ้ง อายุ ๔๘ ปี สัมภาษณ์ใน วราลักษณ์ อิทธิพลโอฬาร, ๒๕๓๙)

๔.๖ ปัญหาน้ำเน่า น้ำเสียและปัญหาสุขภาพ เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ป่าทามทั้งผืนจมอยู่ใต้น้ำ เกิดการเน่าเปื่อยของต้นไม้ใบไม้ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย น้ำมีสีดำ ยิ่งน้ำนิ่งไม่มีการถ่ายเทยิ่งเพิ่มความรุนแรง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง แหล่งน้ำที่หลายชุมชนใช้ผลิตน้ำประปา (กุด) เกิดสกปรกเพราะมีเศษซากวัชพืชเน่าเปื่อยหมักหมม เกิดผลกระทบต่อบ่อน้ำตื้นทั่วไปที่ชาวบ้านใช้บริโภค หลังการสร้างเขื่อน ระดับน้ำใต้ดินยกระดับสูงขึ้น น้ำบ่อในชุมชนจำนวนมากเริ่มมีสนิมปนเปื้อน บางบ่อน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย น้ำเค็มและเป็นสนิม เกิดการระบาดของวัชพืชน้ำจำพวกจอกแหนและหอยคัน เมื่อชาวบ้านลงน้ำไปหาปลาก็เกิดอาการคันตามเนื้อตัว การระบาดของหอยเชอรี่ พร้อมกับการสูญพันธุ์ของหอยโข่ง ซึ่งต้องวางไข่ในดินในฤดูแล้ง หอยเชอรี่ระบาดไปยังทุ่งนาทุกพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล โดยเฉพาะพื้นที่ที่สูบน้ำไปทำการเกษตร

ผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่า หลังการสร้างเขื่อนชาวบ้านเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึงร้อยละ ๑๙.๐ โรคที่พบมากที่สุด คือ โรคผิวหนังผื่นคันร้อยละ ๔๐ ของโรคที่พบ (สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๗) นอกนั้นก็มีโรคท้องร่วง ตาแดง หวัดเรื้อรัง ภูมิแพ้และพยาธิต่าง ๆ ทั้งยังมีอาการป่วยจากการกินปลาปักเป้า แพทย์โรงพยาบาลราษีไศลลงความเห็นว่าเกิดจากพิษปลาปักเป้า (fish poisoning, tetrodo toxin intoxication) มีอาการชารอบริมฝีปาก แขนขาและปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจขัด ในอดีต ปลาปักเป้าเป็นปลาที่ชาวบ้านสามารถบริโภคได้ไม่เคยมีอาการแพ้พิษ และโรคที่มาพร้อมกับโรคอื่นๆ ก็คือ โรคเครียด วิตกกังวล เกิดจากการสูญเสียที่ทำกินอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อมีการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหา ซึ่งมีความยากลำบากเพราะมีการต่อสู้ยืดเยื้อเผชิญหน้ากับรัฐอย่างตึงเครียด และเป็นกิจกรรมที่ต้องลงทุนลงแรงพอสมควร บางครอบครัวถึงขั้นนำโฉนดที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ในการต่อสู้ หลายคนเกิดอาการเครียดถึงขนาดไปหาหมอ และมีไม่น้อยกว่า ๑๐ คนที่เสียชีวิตขณะชุมนุม

๔.๗ ผลกระทบต่อแหล่งน้ำชลประทานเดิม ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลนั้น เดิมเคยมีโครงการชลประทานขนาดเล็กระดับชุมชนและมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว เป็นโครงการของกรมชลประทาน กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กรมทรัพยากรธรณี ส่วนมากจะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ฝายน้ำล้น ทำนบกั้นน้ำ บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำเหล่านี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จหน่วยงานรัฐก็จะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นผู้จัดการดูแล เฉพาะในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอบึงบูรพ์ พบว่า มีโครงการชลประทานดังกล่าว จำนวน ๑๒ โครงการ คือ อ่างห้วยน้ำเค็ม ฝายบ้านหนองบัวดง ฝายกุดก้อม ฝายน้ำล้นกุดปลาเซียม ฝายน้ำล้นห้วยน้ำเค็ม ฝายหนองโดน ฝายน้ำล้นหนองตาหวด ทำนบฮองหวาย อ่างเก็บน้ำร่องไผ่ ฝายน้ำล้นอ่างร่องไผ่ ฝายหนองหล่ม (กั้นห้วยทับทัน) อ่างเก็บน้ำร่องจิกปูด อ่างเก็บน้ำบ้านโนนลาน รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๔๐ ล้านบาท ในโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ บางแห่งสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำในการทำนาปรังในฤดูแล้ง

เขื่อนราษีไศลได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทับซ้อนลงไปในพื้นที่ดังกล่าว ท่วมทั้งพื้นที่เก็บน้ำและท่วมทั้งพื้นที่ทำกินที่ใช้ประโยชน์รอบอ่างเก็บน้ำเดิม ถือเป็นการทำโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม

๔.๘ การสูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน ป่าทามลุ่มน้ำมูนตอนกลางเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนสองฟากฝั่ง การเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินร่วมกัน เช่น การเลี้ยงวัว - ควาย การทำนาหนอง การหาปลา การเอาผือ กก มาทอเสื่อ ฯลฯ ทำให้คนสองฝั่งหรือระหว่างชุมชนที่เป็นรอยต่อกันเกิดมีปฏิสัมพันธ์กันฉันญาติมิตร เพื่อน พี่น้อง เกิดการแต่งงานกันข้ามหมู่บ้านสองฟากแม่น้ำมูน กลายเป็นเสี่ยวกัน เป็นเส้นทางในการคมนาคมของชุมชน การค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน เช่น บ้านท่างาม กับบ้านโนนทราย ซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำมูน มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเพียง ๒ กม. ทำให้คนสองบ้านนี้ไปมาหาสู่กันสะดวก หากมีงานบุญในหมู่บ้าน คนในสองหมู่บ้านก็จะเดิน ปั่นจักรยาน ขับมอเตอร์ไซด์ ผ่านป่าทามแห่งนี้มาช่วยเหลือกัน หากเป็นฤดูฝนก็จะพายเรือมาตามร่องน้ำ กุดที่เชื่อมต่อกันและข้ามแม่น้ำมูนมาอีกฝั่งหนึ่งได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปในการเดินทางไปมาหาสู่กัน

นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนราษีไศลทำให้ชุมชนสูญเสียภูมิปัญญาในการทำมาหากิน คนรุ่นหลังขาดโอกาสที่จะลงไปใช้ชีวิต เรียนรู้และทำมาหากินเพื่อดำรง สืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าว เช่น การทำนาไร่ การทำนาหนอง การหาปลา หาผัก การต้มเกลือ เพราะต้องออกไปทำมาหากินนอกชุมชน ขายแรงงาน ในฐานะเป็นคนที่มีกำลังมากที่สุดในครอบครัว คนหนุ่มสาว เยาวชนรุ่นหลังจึงขาดการซึมซับ ถ่ายทอดวิถีการทำมาหากินที่เป็นภูมิปัญญาของครอบครัว วิถีการผลิตที่เรียบง่ายและพึ่งตนเอง ไปหลงไหลกับสมัยนิยมแทน


 

Create Date : 07 ตุลาคม 2550
Last Update : 7 ตุลาคม 2550 12:39:08 น.

Counter : 602 Pageviews.
7 comments

Add to Share/Save/Bookmark Share/Save/Bookmark Share/Save/Bookmark

 


๒. โครงการเขื่อนหัวนา

เขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนคอนกรีต ขนาด ๑๔ บานประตู กั้นแม่น้ำมูนที่บริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ ก่อนที่แม่น้ำชีจะไหลบรรจบกับแม่น้ำมูนที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นเขื่อนตัวท้ายสุดของโครงการ โขง ชี มูล และเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการ โขง ชี มูล มีระดับเก็บกักน้ำที่ ๑๑๕ ม.รทก.ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำทอดยาวตามแม่น้ำมูนระยะทาง ๙๐ กิโลเมตร ท้ายน้ำจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด ๑๘.๑๑ ตร.กม. มีปริมาตรความจุ ๑๑๕.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร วัตถุประสงค์การก่อสร้างโครงการเพื่อจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด ๑๕๔,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๖๑ หมู่บ้านในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลฯ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด ๒,๕๓๑.๗๔ ล้านบาท

ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่ผ่านมาไม่เคยถูกระบุไว้ในเอกสารของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (โดยในเวทีเปิดเผยข้อมูลโครงการเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ณ ศาลาประชาคม จังหวัดศรีสะเกษ นายช่างหัวหน้าโครงการเขื่อนหัวนาชี้แจงว่ายังไม่ทราบพื้นที่ผลกระทบที่แท้จริง)

เขื่อนหัวนาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕ ก่อนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโขง ชี มูล จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๖ ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดิมกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นการศึกษาไม่ครอบคลุมตามที่กฎหมายกำหนด สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จึงให้นำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ปัจจุบันเขื่อนหัวนา อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ที่มีมติให้ยุติการดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการถมแม่น้ำมูนจนกว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร แต่การดำเนินการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม มีเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สินอยู่ในระหว่างการดำเนินการ อย่างไรก็ตามระหว่างรอการศึกษาผลกระทบตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอกันทรารมย์ ให้ทำคันดินกั้นแม่น้ำมูนเดิมโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนกรมชลประทานเสนอให้เก็บกักน้ำในระดับ ๑๑๔ ม.รทก. โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบเช่นเดียวกัน

๒.๑ ผลประโยชน์จากเขื่อนหัวนา

โครงการเขื่อนหัวนา ระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค เกษตรชลประทาน มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ๖๑ หมู่บ้านของจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลฯ มีการเก็บกักน้ำสองระยะคือ ระยะแรกเก็บน้ำที่ระดับ ๑๑๔.๐๐ ม.รทก. (ใช้น้ำภายในประเทศ) ระยะที่สองเก็บกักน้ำที่ ระดับ ๑๑๕.๐๐ ม.รทก. (เมื่อมีการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามา) สามารถสูบน้ำช่วยเกษตรกรรมในพื้นที่เพื่อเพาะปลูกในระยะแรกได้ประมาณ ๗๗,๓๐๐ไร่ ในฤดูแล้ง และ ๑๕๔,๐๐๐ ไร่ ในฤดูฝน

๒.๒ ผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา

โครงการเขื่อนหัวนา นอกจากเขื่อนขนาด ๑๔ บานประตู ซึ่งสร้างกั้นลำน้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว และพนังกั้นน้ำ ที่เสริมตลิ่งและปิดกั้นลำน้ำสาขาที่จะไหลลงแม่น้ำมูนแล้วยังรวมถึงการดำเนินการของราชการที่ต้องการขับเคลื่อนให้โครงการเขื่อนหัวนาบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นผลกระทบของโครงการเขื่อนหัวนา ที่จะกล่าวถึงจะครอบคลุมความหมายที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมด เมื่อชาวบ้านเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ มักถูกตั้งคำถามว่า " เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ จะเดือดร้อนอะไร? " เป็นคำถามที่ทิ่มแทงใจชาวบ้านตลอดมา จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนหัวนา แบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายแล้วกับผลกระทบทางด้านจิตใจที่ต้องวิตกกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

๒.๓ ผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายแล้ว

(๑) การสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อนและพนังกั้นน้ำ

การสร้างหัวงานโครงการเขื่อนหัวนา กรมพัฒนาฯ ได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินบริเวณหัวงาน ทั้งหมด ๒๙๓ ไร่ แบ่งเป็นที่ดิน น.ส.๓ ก.จำนวน ๖๘ ไร่ ที่ดิน ส.ค.๑ จำนวน ๒๒๐ ไร่ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่มีตอฟาง (ร่องรอยการทำประโยชน์) จำนวน ๕ ไร่ เป็นที่ดินทั้งหมด ๒๙ แปลง ของชาวบ้าน ๒๗ ครอบครัว ยังมีที่ดินอีกจำนวน ๓๑ แปลง จำนวน ๓๕๐ ไร่ ที่ยังไม่ได้รับค่าทดแทน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และมีสภาพเป็นหัวไร่ปลายนา และเป็นพื้นที่ทาม รวมพื้นที่ที่สูญเสียจากการก่อสร้างหัวงานทั้งหมดประมาณ ๗๐๐ ไร่ นอกจากการสร้างหัวงานแล้วในช่วงปี ๒๕๓๖ กรมพัฒนาฯ ได้ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ เพื่อเสริมตั้งและปิดกั้นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำมูน บริเวณบ้านหนองบัว บ้านโพนทราย บ้านอีปุ้ง บ้านโนนสังข์ บ้านหนองโอง บ้านหนองเทา บ้านเหม้า บ้านเปือย บ้านหนองแก้ว โดยอ้างว่าเป็นการลดผลกระทบของโครงการ การก่อสร้างพนังกั้นน้ำมีลักษณะเดียวกันกับพื้นที่หัวงานคือจ่ายค่าชดเชยเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มีตอฟางเท่านั้น โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสต่อรองค่าทดแทน แต่ปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ ที่บ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ บริษัทรับเหมาไปขุดดินในที่สาธารณะของหมู่บ้านมาทำพนังกั้นน้ำ เมื่อชาวบ้านร้องเรียนกรมพัฒนาฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของบริษัทรับเหมา

(๒) การไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามปรกติ การสร้างพนังกั้นน้ำของโครงการเขื่อนหัวนา ทางโครงการได้ชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าเป็นการลดพื้นที่ผลกระทบไม่ให้น้ำจากเขื่อนทะลักเข้าที่นาชาวบ้าน แต่เนื่องจากแม่น้ำคือจุดศูนย์รวมของน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อฝนตกน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่แม่น้ำ แต่เมื่อไหลลงมาติดพนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำของพนังกั้นน้ำไม่สามารถระบายได้ทัน ทำให้เกิดน้ำเอ่อขังในที่นาของชาวบ้าน โดยมากสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดประมาณเดือนสิงหาคม - กันยายน หลังจากชาวบ้านดำนาเสร็จแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องทำนาสองครั้งแต่ได้เก็บเกี่ยวครั้งเดียว

ในปี ๒๕๔๓ ในฤดูน้ำหลาก พนังกั้นน้ำบริเวณ บ้านโนนสังข์ ต.โนนสังข์ ได้พังลงทำให้น้ำท่วมเอ่อเข้ามาในที่นาของชาวบ้าน ทำให้ข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เคยได้รับการศึกษาตรวจสอบหรือแก้ไขใดๆ จากโครงการ

(๓) การสูญเสียสิทธิในที่ดิน ช่วงปี ๒๕๓๑ – ๒๕๓๖ กรมที่ดินร่วมกับสภาตำบลหนองแค ต.เมืองคง บัวหุ่ง หนองอึ่ง ส้มป่อย อ.ราษีไศล และสภาตำบลรังแร้ง อุทุมพรพิสัย ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ในพื้นที่ทาม สองฝั่งแม่น้ำมูน ต่อมาในปี ๒๕๔๒ จึงมีการแจ้งแก่ชาวบ้านว่า ที่ดินดังกล่าวกรมที่ดินได้ส่งมอบให้กรมพัฒนาฯ สร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนาแล้ว

การออก นสล. มีการซอยพื้นที่เป็นแปลงย่อยแล้วทยอยออกเป็นแปลง แต่เมื่อนำมาทาบในระวางของกรมที่ดิน จะเห็นว่าเป็นแปลงต่อกันครอบคลุมพื้นที่ทามแทบทั้งหมด ในพื้นที่ ๖ ตำบล นายจันทร์ เข็มโคตร เล่าว่า "ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในพื้นที่ แอบนำนายช่างกรมที่ดินออกไปรางวัดแนวเขต นสล. บางแปลงแอบไปวัดกันตอนกลางคืน" ทำให้ที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้ถือครองใช้ในการทำกินมาอย่างยาวนาน ทั้งที่ที่ดินบางส่วนมีเอกสารหลักฐานรับรองสิทธิ์ในลักษณะต่างๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อยู่ในแนวเขตของ นสล. [1]

หลังจากการออก นสล. ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ตามปรกติ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลรังแร้ง องค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศห้ามชาวบ้านไม่ให้เข้าไปทำกินในพื้นที่สาธารณะ และคัดค้านไม่ให้คณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนหัวนา อ.อุทุมพรฯ รังวัดพื้นที่ของชาวบ้าน

(๔) ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต ผลกระทบดังกล่าวเกิดจากการบิดเบือนข้อมูลและปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บวกกับประสบการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นกับในพื้นที่ตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง ความวิตกกังวลของชาวบ้านมีดังต่อไปนี้

- ความกังวลว่าจะต้องถูกอพยพโยกย้ายบ้านเรือนของชาวบ้านหนองโอง

ตามที่นายนรินทร์ ทองสุข นายช่างโครงการเขื่อนหัวนา ได้เข้ามาประชุมชาวบ้านบ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ ในปี ๒๕๔๒ โดยแจ้งให้ชาวบ้านยุติการสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้านไว้ก่อน เพราะการสร้างเขื่อนหัวนาจะทำให้น้ำท่วมต้องอพยพชาวบ้านประมาณ ๓๐ หลังคา แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับและยืนยันว่าชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชน ถ้าย้ายก็ต้องย้ายด้วยกัน หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมชลประทาน จังหวัดศรีสะเกษไม่มีหน่วยงานใดติดต่อกับชาวบ้านเรื่องการอพยพโยกย้ายอีกเลย สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๔๔๗ นายเจียง จันทร์แจ้ง เล่าว่า "นายถนอม ส่งเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ไปชี้แจงกับชาวบ้านที่บ้านหนองหวาย ต.โนนสังข์ ว่าตนจะขอให้คณะรัฐมนตรีมอบอำนาจให้ทางจังหวัด ดำเนินการโครงการเขื่อนหัวนาต่อ และจะทำให้เสร็จภายใน ๓ เดือนก่อนเกษียณ" ชาวบ้านยิ่งวิตกกังวลเพิ่มขึ้น

- ความกังวลว่าจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้าน ๒ ฝั่งแม่น้ำมูน

การสูญเสียที่ดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับชาวนา ที่สำคัญการสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อนหัวนา ชาวบ้านไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าจะได้รับค่าทดแทนหากที่ดินถูกน้ำท่วมเสียหาย ความกังวลในข้อนี้คือ สาเหตุสำคัญที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ หากพิจารณาข้อเรียกร้องตั้งแต่เริ่มแรกจะเห็นได้ว่าวนเวียนอยู่ในเรื่องที่ดิน ตั้งแต่การเรียกร้องให้เปิดเผยพื้นที่ผลกระทบ การปักหลักที่ระดับเก็บกักน้ำ การเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบ ล้วนแล้วแต่ต้องการจะรู้ว่าที่ของตนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ สุดท้ายจึงเรียกร้องให้มีการรังวัดพื้นที่ ที่ชาวบ้านคาดว่าจะได้รับผลกระทบเพื่อเป็นหลักประกันไว้ตั้งแต่ก่อนเขื่อนกักเก็บน้ำ

สิ่งที่เพิ่มความกังวลให้กับชาวบ้านคือ ท่าทีของทางราชการ อธิบดีกรมพัฒนาฯ บอกว่ายังไม่สามารถระบุพื้นที่ผลกระทบได้ ชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องให้ปักหลักระดับน้ำ แต่หลังจากปักระดับน้ำแล้ว ชาวบ้านตรวจสอบในฤดูน้ำหลากพบว่าไม่สามารถเชื่อถือได้ จึงเปลี่ยนให้มารังวัดพื้นที่ ระหว่างการรังวัดก็มีข่าวตลอดว่า เขื่อนจะปิดน้ำ อีกส่วนหนึ่งของความกังวลในประเด็นดังกล่าวมาจากประสบการณ์ของเขื่อนราษีไศล ที่จนถึงวันนี้ยังจ่ายค่าชดเชยไม่เสร็จ และยังมีปัญหาการทับซ้อน และการพิสูจน์การครอบครองและทำประโยชน์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติ

- ความกังวลว่าจะสูญเสียพื้นที่บุ่งทาม

การหาอยู่หากินในบุ่งทาม คือ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำมูนตอนกลาง สืบสานมาจากบรรพบุรุษ เป็นวิถีชีวิตที่ควบคู่กับการทำการเกษตร ดังนั้น หากสูญเสียพื้นที่ทาม ในการหาอยู่หากิน เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง เห็นได้จาก การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านทำการศึกษาหัวข้อป่าทาม เป็นหัวข้อแรกที่ชาวบ้านทำการศึกษา และจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าในพื้นที่เขื่อนหัวนา พบพืชทามประเภทไม้พุ่มจำนวน ๓๒ ชนิด ได้แก่ ไม้กระโดนต้น ไม้ค้าริ้น ฯลฯ ประเภทไม้เครือพบ จำนวน ๒๕ ชนิด ได้แก่ เครือหมากพิพ่วน เครือเบ็นน้ำ เครือหางนาค ฯลฯ ประเภทต้นไผ่พบ ๔ ชนิด ได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่โจด ไผ่น้อย ไผ่หวาน ประเภทหัวพบ ๔ ชนิด ได้แก่ มันแซง มันนก กลอย เผือก หญ้าพบ จำนวน ๒๔ ชนิด ได้แก่ หญ้าแห้วหมู หญ้าหวาย ฯลฯ เห็ดพบจำนวน ๔๘ ชนิด ได้แก่ เห็ดเผิ่งทราย เห็ดปลวกจิก เห็ดเผิ่งทาม เห็ดน้ำหมาก ฯลฯ พืชที่ใช้เป็นผักพบจำนวน ๕๑ ชนิด ได้แก่ ผักกูด ผักเม็ก ผักล่าม ฯลฯ ประเภทพืชผักในน้ำพบ ๓๑ ชนิด ได้แก่ ผักบักกระจับ ผักอีฮีน ฯลฯ ประเภทพืชผลิตหัตถกรรม เช่น กก ผือ ผักตบชวา พื้นที่ป่าดิบแล้งพบไม้ยืนต้นจำนวน ๑๖ ชนิดได้แก่ ต้นแดง ต้นขี้เหล็ก สะเดา ฯลฯ

สัตว์ป่าในพื้นที่ทามมี ประเภทสัตว์ปีกจำพวกนกรวบรวมได้ถึง ๓๔ ชนิด ได้แก่ นกเหลืองอ่อน นกกระสา นกกาบบัว ฯลฯ สัตว์จำพวกแมลง รวบรวมได้ถึง ๓๘ ชนิด ได้แก่ แมลงจี่นูนช้าง จักจั่น แมลงคาม ฯลฯ ประเภทสัตว์บก รวบรวมได้ถึง ๑๑ ชนิด ได้แก่ เห็นอ้มเห็นหางก้าน กระต่าย ฟางฟอน ฯลฯ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวบรวมได้ถึง ๑๗ ชนิด ได้แก่ ตระกวด แลน เฮี้ย เต่า กบ เขียด ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน รวบรวมได้ถึง ๑๑ ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูทำทาน ฯลฯ

- ความกังวลว่าจะเกิดการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็ม

คลองชลประทานและสถานีสูบน้ำที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวบ้านมีประสบการณ์การแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มเป็นอย่างดี สถานีสูบน้ำบ้านหลุบโมก ต.เมืองคง สถานีสูบน้ำบ้านท่า ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล สถานีสูบน้ำบ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ ล้วนเป็นสถานีสูบน้ำที่เคยเกิดปัญหาดินเค็มน้ำเค็ม ตั้งแต่หลังเปิดใช้ได้ เพียง ๒ -๓ ปีเท่านั้น ยังมีเพียงสถานีสูบน้ำบ้านท่า อ.ราษีไศล ที่มีการสูบน้ำขึ้นมาใช้ในฤดูฝน ช่วงฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

นอกจากประสบการณ์ตรงของชาวบ้านเองแล้ว การแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็มจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ที่บ้านเหล่าข้าว ต.ยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด จนทำให้คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ต้องสั่งเปิดเขื่อนราษีไศล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ความกังวลของชาวบ้านไม่ใช่เป็นความไร้เหตุผล เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้ท้วงติงโครงการ โขง ชี มูลไว้เช่นกัน

- ความกังวลว่าจะสูญเสียแหล่งดินปั้นหม้อ

ดินปั้นหม้อ เป็นดินที่มีลักษณะพิเศษ ต่างจากดินทั่วไป คือต้องมีช่วงที่ถูกน้ำท่วม และโผล่พ้นน้ำ ที่สำคัญคือ ดินดังกล่าวจะเกิดการสร้างตัวขึ้นใหม่ตลอดแม้ว่าในฤดูแล้ง ชาวบ้านขุดมาปั้นหม้อ แต่ถึงช่วงฤดูน้ำหลากดินก็จะสร้างตัวขึ้นใหม่แทนที่ดินที่ถูกขุดไป ตลอดความยาวของแม่น้ำมูนที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนา ระยะทาง ๙๐ กิโลเมตร พบแหล่งดินปั้นหม้อ ๓ แห่ง คือ บ้านโพนทราย ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ บ้านโก ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล บ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพร แต่ชาวบ้านที่ปั้นหม้อยังมีที่บ้านโพนทรายกับบ้านโกเท่านั้น ที่บ้านโนน ก็เคยมีการปั้นแต่เลิกทำไปนานแล้ว

อาชีพปั้นหม้อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างดีอาชีพหนึ่ง ที่บ้านโพนทราย มีชาวบ้านที่ปั้นหม้อเป็นอาชีพ โดยที่ไม่มีนา จำนวน ๒๐ ครอบครัว ในช่วงฤดูที่ตีหม้อได้ คือเดือนพฤศจิกายน – เมษายน มีรายได้เฉลี่ยครอบครัว ละ ๘,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความขยันและแรงงานของแต่ละครอบครัว ในช่วงที่มีการรังวัดที่ดินที่บ้านโพนทราย ชาวบ้านที่ปั้นหม้อยิ่งมีความกังวลเนื่องจาก แหล่งดินปั้นหม้อเป็นของส่วนรวมที่คนปั้นหม้อลงหุ้นกันซื้อมาเป็นพื้นที่ส่วนรวม ชาวบ้านกังวลว่าถ้าน้ำเขื่อนท่วมจะประกอบทำมาหากินอะไรต่อไป

นอกจากความกังวลในประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ชาวบ้านยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายของแหล่งโบราณวัตถุ โนนบักค้อ ที่บ้านโนนสัง การแพร่ระบาดของไมยราพยักษ์ การสูญเสียอาชีพประมง การสูญเสียอาชีพหัตถกรรมกกผือของบ้านหนองกก อ.ราษีไศล การสูญเสียพื้นที่เลี้ยงวัวควาย การสูญเสียประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับทาม และผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้วที่เขื่อนราษีไศล.



--------------------------------------------------------------------------------

[1] แม้ว่า นสล. ไม่ใช่หนังสือสำคัญสำหรับแสดงกรรมสิทธิ์เหมือนอย่างโฉนดที่ดินเป็นแต่หนังสือที่ออกให้เพื่อแสดงแนวเขตที่ดินของทางราชการเท่านั้น แต่พื้นที่ดินที่อยู่ในเขต นสล. ก็คือพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ บัญญัติว่า สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้นรวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๒/๒๕๐๙ พิจารณาตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า "ที่ดินที่น้ำยังคงท่วมทุกปีในฤดูน้ำ ต้องถือเป็นที่ชายตลิ่ง อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่





ที่มา จากสำนักข่าวประชาธรรม

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

สมัชชาคนจนราษีไศล-หัวนา 'ยึด' หัวงานเขื่อนราศีไศล จี้รัฐไม่แก้ปัญหาไม่กลับ

หนังสือ บทความ/รายงานพิเศษ /สารคดี /สัมภาษณ์ (ประชาธรรม) ข่าว (ประชาธรรม)และเอกสารอื่น ๆเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

 

โดย: Darksingha วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:12:37:52 น.  

 


ตราบใดที่รัฐเอาแต่ใจ โดยไม่ยอมฟังเสียงของประชาชนแล้วละก็ปัญหาน้ำ ที่ดินทำกินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ นั่นก็คือ ความยากจนจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า การอพยพการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนปัญหาอาชญากรรมก็จะเกิดขึ้น
จากความอดอยากของพี่น้องประชาชน
ครับเช่นเดียวกันหากพี่น้องประชาชนเอาแต่ใจไม่ยอมสดราวาศอกให้แก่กัน ผลที่จะเกิดชึ้นก็จะไม่แตกต่างกันครับ.
ขออนุญาตินำเสนอความคิดเห็นดังนี้.-
๑.)ตัวเลขเงินลงทุน8jาก่อสร้างเขื่อน + ค่าชดเชยที่ดิน ค่าออกแบบ และต่าศึกษาผลกระทบรวมเป็นเงิน = ๘๕,๙๐๔.-บาท/ไร่
๒.)ทำให้น้ำท่วมป่าบุ่งป่าทามซึ่งใช้ในการทำการเกษตรและเลี่ยงสัตว์
๓.)รัฐยังจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่ครบถ้วน.
การแก้ไขเริ่มจากข้อท่๓.คือรัฐต้องหาเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ก็เป็นเงินภาษีของคนอิสานเหมือนกันและเป็นภาคที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศอีกด้วย.ส่วนปัญหาน้ำท่วมในข้อที่ ๒ นั้นต้องไปค้นหาสาเหตุว่า ทำไม? น้ำจึงท่วม ผมจะไม่มีวันเชื่อเลยครับว่าวิศวกรจะออกแบบเขื่อน/ฝายโดยมีความต้องการ(วัตถุประสงค์)ให้น้ำไปท่วมที่ดินทำกินนอกเหนือไปจากพื้นที่ๆได้เวนคืนไปจากราษฎร/เกษตรกร/ชาวนาแล้ว เพราะฉะนั้นสาเหตุน่าที่จะมาจาก.-
๒.๑) ความผิดพลาดในการออกแบบเช่นระดับเก็บกักสูงเกินไปโดยไม่จำเป็น.
๒.๒)อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมปริมาณน้ำไหลย้อนกลับ ทำงานได้ไม่ครบถ้วน.
๒.๓)ผู้ดูแลการใช้และช่อมบำรุงด้อยประสิทธิภาพและอาจไม่เข้าใจในหลักการเก็บกักน้ำ/หรือการพร่องน้ำของเขื่อนนั้นๆก็เป็นได้ครับ.(ลักษณ์อ่างเก็บน้ำจะมีคันดินทั้งสองฝั่งแม่น้ำชี,แม่น้ำมูล และมีประตูน้ำที่ออกแบบให้น้ำไหลผ่านได้ด้านเดียว ปิดกั้นลำน้ำสาขาจุดอ่อนอยู่ตรงนี้แหละครับเพราะถ้ามีเศษไม้ไปขัดน้ำจะทลักไปท่วมไร่นาป่าบุ่งป่าทามทันทีครับ ถ้าจะให้ดีเอาออกและทำคันดินย้อนขึ้นไปเช่นเดีนวกับแม่น้ำประทานครับและยังเป็นการส่งน้ำไปให้เกษตรกร/ชาวนาได้ใช้น้ำสดวกขึ้นอีกด้วย เขื่อนราษีไศลมีลำน้ำสาขามากหน่อย ส่วนเขื่อนหัวนาคนละแบบแทบไม่มีลำน้ำสาขาเลย ผมได้พบเกษตรกร/ชาวนาอำเภอกันทรารมย์ที่กรุงเทพฯ สอบถามกลับได้คำตอบว่าพวก เขาต้องการน้ำคือเขาต้องการให้สร้างเขื่อนหัวนาให้แล้วเสร็จโดยเร็วซึ่งก็เหลืองานเพียงถมกลับแม่น้ำเดิมเท่านั้นครับ ผมเสียดายเวลาที่เสียไปมากเลยครับ แทนที่คนจำนวนมากจะได้ใช้น้ำในห้าแล้งกลับต้องมารอเพราะความขัดแย้งและไม่มีไครสามารถแก้ไชได้)
ส่วนปัญหาข้อที่ ๑ นั้นค่าลงทุนที่ดูสูงมากอาจมีการรั่วไหล(คอรับชั่น)อย่างไรก็ตามผมยังคิดว่า การลงทุน/ไร่ยังไม่สูงจนเกินไปครับ ผมจะเทียบให้เห็นตัวเลขครับเช่นการลงทุนส่วนบุคคลในการปรับเปรียนจากการเกษตรกรรมเชิงเดียวคือทำนาอย่างเดียว มาเป็น การเกษตรแบบ "ทฤษฎ๊ใหม่"ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย ๒๕ ไร่/ครัวเรือนขอยกตัวอย่างเพียงแปลงละ ๑๕ ไร่ การลงทุนในการขุดสระ ๓๐% = ๔.๕ ไร่ถ้าลงทุนไร่ละ๘๕,๙๐๔.-บาท = ๓๘๖,๕๖๘.-บาท สระขุดลึก ๔ เมตร ลาดข้าง ๑.๕:๑ ปริมาณดินขุดจะตกประมาณ ๒๐,๐๐๐ ลบ.ม.ติดเป็นค่าขุดดิน ลบ.ม.ละ = ๓๘๖,๕๖๘/๒๐,๐๐๐ =
๑๙.๓๓ บาท/ลบ.ม.เท่านั้นผมคิดว่าสมเหตุผลและทำได้ครับ.ทีนี้มาดูว่า แปลงเกษตร "ทฤษฎีใหม่"ที่ได้ขุดสระครบถ้วนตามแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวนั้นสามารถแก้ปัญหาของเกษครกร/ชาวนาได้ครอบคลุมอะไรบ้าง. น้ำนั้นคือชีวิต ก็แก้ปัญหาความยากจนได้ทำให้เกษตรกร/ชาวนามีชึวิตพอเพียงและจะค่อยๆดีขึ้นครับ เพราะ แก้ปัญหาภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงได้ มีผลผลิตหลากหลายทำให้มีรายได้ตลอดปี นั่นก็คือมีงานทำตลอดปีนั่นเองครับ ชาวนาก็จะสามารถทำนาได้ปีละ ๒ ครัง ทำนาน้อยลงแต่ได้ข้าวเหลือกิน และยังมีต้นทุนถูกมากอีกด้วย การอพยพก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นเพราะเขามีพออยู่พอกิน ส่วนไครไม่มีที่ทำกินรัฐก็เข้าไปเสริมจัดหาให้ครับ ตรงจุดนี้แหละครับ ผมจะโยงให้เห็นความสำคัญที่ต้องมีเขื่อนราษีไศล/และเขื่อนหัวนาและอื่นๆอีก ๒๐ กว่าแห่ง เพราะในบางพื้นที่ฝนจะแล้งมากต้องมีการนำเอาน้ำจากเขื่อนเหล่านี้มาเติมครับ ผลพลอยได้ที่สำคัญยิ่งก็คือจะได่ป่าปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๓๐%ดังพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว"ปลูกป่าสามอย่างได้ประโยชน์สี่อย่าง"นั่นก็คือปลูกไม้ผลก็ได้กินและขาย ปลูกไม้ยืนต้น ก็ได้ไม้ทำเรือนเหลือก็ขายได้ ปลูกไม้ใช้สอยเช่นไม้โตเร็ว กะถินณรงค์ สะแกเป็นต้น ใช้เป็นพลังงาน ข้อที่สี่คือ ได้อนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อมโดยส่วนรวมอีกด้วยครับ.

 

โดย: msuriyamas@hotmail.com IP: 58.9.187.239 วันที่: 13 มกราคม 2551 เวลา:7:26:24 น.  

 


กระผมในนาวชาวตำบลหนองแกวหนองแวง
ด้วยเขื่อนกอกหัวนาสร้างมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเวลา 17 ปีแล้วการดำเนินการก็ไม่แล้วเสร็จ ชาวตำบลหนองแก้วหนองแวง ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการสัญจรไปมา ระหว่างฝั่งมูลศรีสะเกษ จะข้ามไปฝั่งเมืองอุบล เพราะมีลูกหลานชาวศรีสะเกษษเดินทางไปเรียนที่ฝั่งเมืองอุบล พร้อมทั้งข้าราชการมาทำงานก็มาก ถ้าเขื่อนไม่สร้างก็ขอให้สร้างสะพานระหว่างบ้านวังยางกับบ้านหัวนาให้ด้วย สาเหตุที่ไม่ได้สร้างเพราะ พวก NGO ทั้งหลายและพวกม็อบรับจ้างมาประท้วง เฉพาะคนในพื้นที่จะมาประท้วงไม่มีซักคนครับผม พวกมาประท้วงมาจากที่อื่นทั้งนั้น
ท่านทราบไหมว่าพวกชาวบ้านตำบลหนองแก้วหนองแวงเดือดร้อน เวลาข้ามไปเรียนหนังสือต้องเอามอเตอร์ไซด์ลงเรือเล็ก ๆ ข้ามแม่นำมูลขนาดใหญ่ อันตรายขนาดไหน ช่วงรัฐบาลสมชายอนุมัติงบประมาณ 225 ล้านบาท ตอนนี้งบไปอย่ไหน
ถ้าถมแท่นำมูล พอถึงหน้าฝนก็ปล่อยนำไม่ต้องกักเก็บนำไว้ มันก็ไม่ท่วม เห็นใจข้าราชการและนักเรียนและชาวบ้านสัญจรไปมาทุกวันเถิด

 

โดย: ชาวบ้านผ้สัญจรทุกวัน IP: 125.26.136.230 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:16:05:13 น.  

 


พวกท่านนักวิชาการทั้งหลายที่ศึกษาลงมาสภาพความเป็นจริงขนาดไหน เวลามาสอบถามชาวบ้าน ก็มาถามเฉพาะพวกประท้วงคน 2-3 คน ชาวบ้านจริงไม่เห็นมาสอบถามเลย เขาอยากได้นำทำการเกษตร ทำนาปรัง นาปี ไอ้พวกนักวิชากรตัวดีที่งหลาย โดยเฉพาะพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลมันรำรวยผิดปกติมา ปปช.มาตรวจสอบมันด้วย มันรับเอาเงินมาจาก พวก NGO บ้า ๆ มันก็พากันวิเคราะห์ว่านำจะท่วมป่าบุ่ง ป่าทาม หน้าฝนมันท่วมอย่แล้วพวกนักวิชาการหน้าโง่ ถ้าสร้างก็ไม่ต้องเก็บนำไว้มากจนให้นำท่วมป่าบุ่งป่าทาม เราก็ปล่อยมันสิ นี้ยังไม่ได้สร้างเลยบอกว่าท่วมแล้ว ไม่เป็นไรไม่สร้างก็ไม่สร้างแต่ต้องสร้างสะพานข้ามระหว่างหม่บ้านหัวนา กับบ้านวังยางให้นักเรียน นักศึกษา
ข้าราชการได้เทียวไปทำงานด้วย
ไม่สร้างก็ระเบิดทิ้งเลย หรือว่าจะให้ชาวบ้านประท้วงปิดถนน

 

โดย: ชาวตำบลหนองแก้วหนองแวง IP: 125.26.136.230 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:16:22:55 น.  

 


รัฐบาลประชาธิปัตย์ ผลักงบประมาณ225 ล้านบาทสร้างเขื่อนกอกหัวนาของเราไปไหนเอาไปพัฒนาภาคใต้ใช่ไหม เขื่อนกอกหัวหนาไม่ใช่ประเทศไทยหรือ ทำไมไม่เหลียวแล หรือว่าไม่ใช่ภาคใต้ การเรียกร้องให้ถมเขื่อนนนั้นถมเสร็จแล้วไม่ต้องกักเก็บนำ ถมเพื่อที่จะให้ชาวบ้านสัญจรไปมาหาสู่กัน ชาวบ้านตำบลหนองแก้วหนองแวง เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษก็จริง แต่เขาไม่ได้ไปศรีสะเกษ เพราะมันไกลศรีสะเกษ 40 กิโลเมตร แต่ถ้าเขาไปเมืองอุบล ระยะทาง 19 กิโลเมตร แต่มันติดอย่างเดียว คือไม่มีสะพานข้ามต้องใช้เรือ
ข้ามแม่น้ำ พอถึงฤดูฝนนี้อันตรายที่สุด
พวกนักวิชาการมีแต่บอกว่ามีผลกระทบ
ใช่ซิพวกคุณไม่ได้ใช้เรือข้ามฟากเหมือนเรา พวกคุณอยู่สะดวกสบายไม่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน

 

โดย: ผ้รอคอยสะพานและเขื่อน IP: 125.26.136.230 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:16:37:36 น.  

 


ผมคนศรีสะเกษโดยกำเนิดเด็กบ้านนอกบ้านคูซอดสนับสนุนการสร้างเขื่อนหัวนาเพราะผมเกิดมาท่ามกลางความแห้งแล้งไปเข็นน้ำเป็นหลายๆกิโล ขอดน้ำมาอุปโภคบริโภคกัน เป็นลูกชาวนาทำนาตามฤดูกาลลำบากมาก ต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในจังหวัดขอสนับสนุน

 

โดย: บักเหม่ง บ้านคูซอด IP: 172.16.3.89, 202.143.148.154 วันที่: 10 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:47:25 น.  

 


ผมคนศรีสะเกษโดยกำเนิดเด็กบ้านนอกบ้านคูซอดสนับสนุนการสร้างเขื่อนหัวนาเพราะผมเกิดมาท่ามกลางความแห้งแล้งไปเข็นน้ำเป็นหลายๆกิโล ขอดน้ำมาอุปโภคบริโภคกัน เป็นลูกชาวนาทำนาตามฤดูกาลลำบากมาก ต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในจังหวัดขอสนับสนุน

 

โดย: บักเหม่ง บ้านคูซอด IP: 172.16.3.89, 202.143.148.154 วันที่: 10 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:48:37 น.
 
เรียนพี่น้องเกษตรกร/ชานาและสมัชชาคนจนบนเขื่อนหัวนาที่นับถือ.
 
ผมขออนุญาตินำบทความของอาจานย์สนั่น ชูสกุล มาลงให้อ่านกันอีก
 
ครั้งครับ และผมเองก็ได้แสดงความคิดเห็นลงไว้ด้วยครับ.
 
อนึ่งพี่น้องชาวผู้รอคอยสพานและเขื่อน/และพี่น้องบ้านคูซอด ผมเห็น
 
ใจนะครับ แต่ผมคิดว่า อะไร?ก็ตามที่เราทำใหญ่เกินไปย่อมมีโทษแฝง
 
อยู่ด้วยครับ ส่วนกานพึ่งตนเองนั้นผมได้นำเสนอไว้ด้วยแล้วคือ การทำ
 
เกษตร "ทฤษฎีใหม่" ตามแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ครับ
 
กรุณาเข้าไปหาอ่านได้จาก.-
 
http://msuriyamas.blogspot.com  ครับ.
 
                 ด้วยจิตรคารวะ
 
         ประชุม สุริยามาศ  วย.๗๗๗
 
 
 
 
 
 
 
 
 



Ready for Fall shows? Use Bing to find helpful ratings and reviews on digital tv's. Click here.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น