เขาพระะวิหาร ระเบิดเวลาจากสงครามล่าอาณานิคม นับถอยหลังชนวนตึงเครียดไทย-เขมร ปัญหา "เขาพระวิหาร" ได้จุดชนวนขึ้นอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชาพยายามเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ เสนอให้เขาพระวิหารเป็น มรดกโลก เฉพาะในส่วนที่อยู่ฝั่งกัมพูชา ในการประชุมยูเนสโก ที่เมืองไครส์เชิร์ท นิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ฝ่ายไทยคัดค้าน เพราะต้องการขอมีส่วนร่วมเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกร่วมกัน โดยอ้างว่าเพราะโบราณสถานที่เกี่ยวข้อง และองค์ประกอบสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ ปราสาทโดนตวล, บรรณาลัยอยู่ฝั่ง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ของฝ่ายไทย รวมทั้งทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร อย่างไรก็ตาม ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑ บริษัท เซี่ยงไฮ้กรุ๊ป จากประเทศจีน ได้เซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้างถนนจาก จ.กัมปงธม และจาก จ.พระวิหาร เพื่อหาทางขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร ฝั่งกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประท้วง ทั้งหมดกลายมาเป็นปมปัญหา "เขาพระวิหาร" อีกครั้ง ในปี ๒๕๕๑ รวมระยะเวลาที่เรื่องเงียบงันมา ๔๖ ปี ขณะเดียวกันยูเนสโกประกาศเลื่อนการพิจารณาเรื่องของมรดกโลกออกไป โดยให้ทั้งสองประเทศหาข้อยุติให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยนำเสนอใหม่ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑
** "เขาพระวิหาร" "เผือกร้อน" ไทย-เขมร*** กรณี "เขาพระวิหาร" ดีไม่ดีอาจเป็นประเด็นทำให้ไทยและกัมพูชาหรือเขมรต้องตึงเครียดใส่กันอีก ครั้ง เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากลุกลามบานปลายจะกลายเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว เหมือนการก่อเหตุเผาสถานฑูตไทยในประเทศกัมพูชาเมื่อปี ๒๕๔๖ พื้นที่ "เขาพระวิหาร" ปัจจุบันนั้นอยู่บริเวณรอยต่อของสองประเทศ อยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ด้าน จ.พระวิหารของกัมพูชา ส่วนฝั่งไทยอยู่ติดกับชายแดนด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นที่ตั้งของ "ปราสาทหินโบราณ" เป็นปราสาทขอมที่สำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และแหล่งท่องเที่ยว จากปัญหาความไม่ชัดเจนในเขตแดนปักปันระหว่างไทยและกัมพูชา ทำให้บริเวณพื้นที่นี้กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน จนในปี ๒๕๐๒ เจ้านโรดม สีหนุ แห่งกัมพูชา ได้ยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕ ศาลโลกได้ตัดสินให้โบราณสถานดังกล่าวตกเป็นของกัมพูชา ทำให้ไทยจำต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนไปตามคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งภายหลังคำตัดสินไทยได้ปิดทางขึ้นในฝั่งไทย ส่งผลให้การขึ้นไปของนักท่องเที่ยวต้องใช้บริเวณที่เรียกว่าช่องบันไดหัก ซึ่งแคบและสูงชันอันตราย แต่ตลอดระยะเวลาก็มีความพยายามประสานรอยร้าวในเรื่องนี้ อยู่เรื่อย ๆ มีการเปิด-ปิดทางขึ้นเขาพระวิหารอยู่เป็นระยะ กล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเขาพระวิหารแห่งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ สองประเทศ ซึ่งก็มีการทำความตกลงครั้งสำคัญ ๆ อาทิ... ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๓๕ มีการลงนามเอ็มโอยูที่จะกำหนดว่าห้าม ๒ ฝ่ายเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณชายแดน อันจะส่งผลให้เส้นเขตแดนเปลี่ยนแปลงไป ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๔๕ มีการทำเอ็มโอยูโครงการสำรวจและจัดทำหลักเขตไทย-กัมพูชาที่ระบุถึงการอำนวย ความสะดวกการสำรวจตลอดแนวเขตแดน ทางบก, ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๗ มีมติร่วม ครม. ไทย-กัมพูชา เห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ร่วมกันด้านการท่อง เที่ยว-ศึกษาประวัติ ศาสตร์ ทั้งยังกำหนดให้มีการดำเนินการเสนอเขาพระวิหาร "เป็นมรดกโลกร่วมกัน" ด้วย แต่ล่าสุดดูจะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน การเสนอชื่อเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเคยมีการดำเนินการแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยูเนสโกได้เลื่อนการพิจารณา โดยขอให้สองประเทศหาข้อยุติระหว่างกันให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยนำเสนอในการประชุมในเดือน มิ.ย. ๒๕๕๑ อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางเดือน ก.ย. มีรายงานว่ายูเนสโกได้ส่งเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศส ๒ คนมาตรวจสอบข้อมูลสถานที่ เขตแดน และสภาพ แวดล้อมของปราสาทเขาพระวิหารแล้ว อันเป็นขั้นตอนเตรียมขึ้นทะเบียน กับเรื่องนี้ทางฝ่ายไทย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่มี ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นประธาน มองว่า... จะไม่สมเหตุผลตามหลักวิชาการของการเป็นพื้นที่มรดกโลก ถ้ามีการเสนอเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตกัมพูชา เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ ปราสาทโดนตวล, บรรณาลัย, สถูปคู่, สระตราว และโบราณสถานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อยู่ในฝั่งไทย ถ้าจะให้เกิดความสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ และหลัก ประวัติศาสตร์ของเทวาลัยที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ต้องรวมองค์ประกอบทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน กรณีนี้ควรประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกร่วมกัน เพราะต้องมีการทำแผนอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ หากได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก เพราะต้องมีการทำเขตกันชนพื้นที่มรดกโลกระหว่างกัน โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีความพยายามทางการทูต แต่กัมพูชาไม่หารือกับไทย แต่อยู่ ๆ ทำเรื่องเสนอเข้าไปอีก ครั้งนี้ไทยเราก็คงไม่ยอม" ...ศ.ดร.อดุลระบุถึงเหตุผลการทักท้วงของฝ่ายไทย ขณะที่ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทรรศนะว่า... เรื่องนี้ไม่น่าจะขยายวงความขัดแย้งเหมือนเช่นที่เคยเกิด น่าจะพูดคุยตกลงทำความเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันจากพื้นที่นี้ ทั้งไทยและกัมพูชาต้องไม่มองให้เป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่ควรมองในแง่ของความเป็นวัฒนธรรมมากกว่า ไม่จำเป็นที่ไทยและกัมพูชาจะต้องเดินตามที่กฎหมายขีดเส้นกำหนดไว้ว่า พื้นที่นี้ของไทย-พื้นที่นี้ของกัมพูชา เพราะวัฒนธรรมนั้นไม่มีการขีดเส้นอยู่แล้วว่าจำกัดแค่พื้นที่ไหน โดยถ้าทำตามกรอบนี้ได้ก็จะช่วยให้บรรยากาศโดย รวมดีขึ้น เกิดการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลดีแน่นอน มีแต่ข้อดีแน่หากพื้นที่เขาพระวิหารได้เป็นมรดกโลก โดยเฉพาะ เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา รวมถึงวัฒนธรรม หากมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกันจริง ๆ คิดว่าฝ่ายกัมพูชาเองก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเศรษฐกิจของเขาก็ผูกพันอยู่กับประเทศไทย ฝ่ายกัมพูชาก็ควรจะยกเครดิตบางด้านให้ไทยมาก ขึ้น แต่ไทยเองก็ต้องยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นสมบัติของเขา อย่าพยายาม ยกข้อกฎหมายมาหักล้าง แต่ควรชี้เหตุผลในเรื่องความเชื่อมโยงทางวัฒน ธรรมระหว่างกันจะดีที่สุด" ...ผศ.ดร.วิบูลพงศ์เสนอแนะ จะเป็นผลดีแน่หาก "เขาพระวิหาร" ได้เป็น "มรดกโลก" แต่ไม่ดีแน่หากต้องเกิดกรณี "พิพาทไทย-กัมพูชา" ขึ้นอีก
***พันธมิตรฯ จี้ "นพดล" เปิดแผนที่เขาพระวิหาร**** เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กว่า ๑,๐๐๐ คน*(พร้อมรถขยายเสียง เดินทางไปที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกล่าวโจมตี นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ว่า นายนพดลปกป้องการเมืองกัมพูชามากจนเกินไป จนละเลยการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยแผนที่ปราสาทเขาพระวิหาร ที่จะไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลก **นพดล"ยันเขาพระวิหาร ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน กระทั่งเวลา ๑๔.๐๐ น. นายนพดล พร้อมด้วย นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤช ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ให้การต้อนรับนาย อึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ในการลงนามร่วมระหว่างนายนพดล กับ นายสก อาน รองนายกฯ และรมต.สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จากนั้น นายนพดลและคณะร่วมกันแถลงข่าว โดยนายนพดล แถลงว่า สืบเนื่องจากการสับสนข้อมูลการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร โดยเมื่อปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน ล้ำเข้าพื้นที่ไทย ๔.๖ ตารางกิโลเมตร กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานรัฐได้คัดค้านเรื่องนี้ต่อเนื่อง จนกระทั่งการพิจารณาของยูเนสโก ครั้งที่ ๓๑ ณ เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ จึงเลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณาในปีนี้ คือ การประชุมยูเนสโก ครั้งที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบก แคนาดา ในวันที่ ๒-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ หากเวลาล่วงพ้นและไทยปล่อยให้ช้าไป ไทยจะสุ่มเสี่ยงที่อาจถูกมองว่า เสียดินแดนในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน ตนได้เจรจากับนายสก อาน ณ เกาะกงและไปเจรจากันที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส วันที่ ๒๒-๒๓ พฤษภาคม ด้วยความยากลำบากและสุดท้ายกัมพูชาตกลงจำกัดการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ผลคือไทยไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน นายนพดล กล่าวอีกว่า แผนที่ L ๗๐๑๗ คือ แผนที่ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลใช้เป็นแผนที่ในการปฏิบัติงานและปี ๒๕๐๕ ศาลโลกตัดสินว่า กรรมสิทธิ์ปราสาทเป็นของกัมพูชา ครม.ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีมติ ครม.ว่า ยกกรรมสิทธิ์ตัวปราสาทให้กัมพูชาตามคำวินิจฉัยของศาลโลก โดยใช้แผนที่นี้มา ๔๖ ปี และหลังจากที่ไทยเจรจากับกัมพูชาได้ห้ามลุกล้ำพื้นที่ ไทย กัมพูชาได้ไปทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ตามข้อตกลงที่กรุงปารีส สิ่งนี้คือ ความสำเร็จในการเจรจาของกระทรวง ตนควรได้รับดอกไม้ ไม่ใช่ก้อนอิฐ ซึ่งเป็นการเจรจาทางการทูตที่ลูกหลานต้องโจษจันไปอีกนานว่าทำสำเร็จได้อย่างไร "แผนที่ที่กัมพูชาทำขึ้นใหม่ ไม่มีตอนใดเลยที่ปราสาทลุกล้ำดินแดนไทยแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว เพราะแผนที่เมื่อปี ๒๕๐๕ นั้นไทยยอมรับไม่ได้และการเจรจาที่ฝรั่งเศสนั้น กัมพูชายอมทำขึ้นมาใหม่ ตรงนี้ คือข้อเท็จจริงของไทย-กัมพูชา ที่ประชาชนต้องรู้ ผมไม่ต้องการปกปิด แต่ที่เพิ่งแถลงข่าวเพราะกัมพูชาเพิ่งลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนนี้เอง" นายนพดลกล่าวว่า การประชุมสมช.และการประชุมครม.นั้นได้รับทราบและอนุมัติคำแถลงการณ์ร่วม รวมทั้งแผนผัง แผนที่ปราสาทที่ยื่นมาใหม่ โดยตนได้ลงนามร่วมกับนายสก อาน ขั้นตอนต่อไปจะส่งแผนที่และคำแถลงการณ์ร่วมไปให้องค์การยูเนสโกลงนาม และจะส่งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๒ วันที่ ๕-๙ กรกฎาคม ณ เมือง ควิเบก แคนาดา ฉะนั้นสรุปว่าสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปกป้องอธิปไตยไม่ให้ไทยสุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียดินแดน ไม่มีแม้ตารางนิ้วเดียวที่สูญเสียและไม่มีใครได้ดินแดน ส่วนที่กล่าวหาว่าตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเสียดินแดนนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น ตนทำในสิ่งที่สำนึกว่าเป็นข้าแผ่นดินและปกป้องอธิปไตยโดยทำสำเร็จแบบมืออาชีพ โปร่งใส ส่วนพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตรจะทำอย่างไรต่อนั้น เรื่องนี้มีการล้ำแดนตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ฉะนั้นต้องรักษาอธิปไตยโดยใช้การเจรจาในการทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน โดยต้องยื่นให้ยูเนสโกภายใน ๒ ปีคือปี ๒๕๕๓ พื้นที่นี้ประชาชนจะอยู่แบบไร้ระเบียบหรือค้าขายไม่ได้ โดยไทยต้องหารือร่วมกับกัมพูชาต่อไป เพราะไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน ตรงนี้ต้องใช้การเจรจาทางการทูตหรือพัฒนาพื้นที่นี้ให้สวยงามและอนุรักษ์ โดยอย่าลืมว่าไทยมีการตกลงกับกัมพูชาหลายฉบับ เช่น กรอบความร่วมมือทวิภาคี, กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต, การพัฒนาตามกรอบแอคเนคในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวร่วมกัน ฉะนั้นสถานที่แห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็จะนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ
**ไทยคดีศึกษาชี้กต.บิดเบือนพื้นที่ทับซ้อน** วันเดียวกันสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ระบุว่ารัฐบาลและคนไทย ทั้งข้าราชการประจำทั้งทหาร พลเรือนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ อย่าให้เป็นการชักจูงโดยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมือง ซึ่งยกวาทกรรมเรื่อง คลั่งชาติหรือชาติ นิยมมาเบี่ยงเบนประเด็นในการตัดสินใจกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ คือ รัฐบาลไปยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียว ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาที่ไม่ยอมรับอธิปไตย ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๕ และยังยอมไปทำแถลงการณ์ร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเขตแดนแม้แต่ น้อย ผลเสียตามกฎหมายปิดปากก็จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยไม่ยับยั้งหรือคัดค้าน คนไทยควรร่วมกันยับยั้งหรือคัดค้านโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน และส่งเรื่องไปตามขั้นตอนและเวลาอย่างเร่งด่วนผ่านองค์การยูเนสโกในประเทศไทย ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก โดยขอให้นักวิชาการ ข้าราชการประจำองค์กรภาคประชาชน สื่อและประชาชนทุกคนมาร่วมกัน สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่ทุกหน่วยต้องสอดส่องบันทึกการกระทำที่ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕ เรื่องเขตแดนไทยตามวิธีการในระบอบประชาธิปไตย ในทางคู่ขนานต้องนำเข้าเจรจาในคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ส่งเรื่องเข้ารัฐสภา และ/หรือดำเนินการทางการทูตอื่นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องขึ้นอยู่กับความเสมอภาคและเคารพอธิปไตยของทั้งสองฝ่ายอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ แถลงการณ์ระบุอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความต้องการเปลี่ยนเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลของไทย เพื่อหวังผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มการเมือง โดยมีเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นสื่อบังหน้า ข้อควรระลึก คือ ๑.หากไม่ยืนยันเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๕ ไทยจะเสียดินแดนให้กัมพูชา ๒.แผนที่ใหม่ของกัมพูชามีนัยเป็นการยืนยันท่าทีของกัมพูชาที่ไม่ยึดถือเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๕ ๓.เมื่อไม่มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน แต่เลือกแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมและออกแถลงการณ์ร่วม ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียดินแดนให้กัมพูชาในที่สุด ทุกฝ่ายจึงควรตั้งสติ ใช้เหตุผล และใช้ประโยชน์จากเบาะแสของคณะวิจัย พิจารณาให้หลุดพ้นจากการถูกบิดเบือน เบี่ยงเบน หลุมพราง และภาพที่ถูกสร้างขึ้น ค่าแห่งความทรงจำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารในฐานะมรดกอารยธรรมของมนุษยชาติจะได้ไม่เป็นเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนไทย **ชาวศรีสะเกษเคลื่อนไหวไล่ชาวกัมพูชาออกจากเชิงเขาพระวิหาร** นายอรุณศักดิ์ โอชารส ประธานสมัชชาประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยแกนนำสมัชชาจำนวนหนึ่ง พากันถือป้ายเดินรณรงค์ไปตามถนนทุกสายในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ป้ายระบุข้อความว่า ปี ๒๕๐๕ ประเทศไทยเสียปราสาทเขาพระวิหาร ปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยต้องไม่เสียดินแดนอีก กัมพูชาต้องรื้อถอนร้านค้าและวัดออกไปจากเขตประเทศไทย ทันที นอกจากนี้ยังตะโกนขับไล่ชาวกัมพูชาให้รื้อถอนบ้านเรือนและวัดออกไปจากเขตแดนประเทศไทยบริเวณเชิงเขาพระวิหารด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชน ที่พากันมาพูดคุยสอบถามข้อมูลจำนวนมาก นายอรุณศักดิ์กล่าวว่า ตามคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ไทยต้องเสียปราสาทเขาพระวิหารไปเป็นของประเทศกัมพูชา แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียเขาพระวิหารทั้งลูก เนื่องจากบันไดหินทางขึ้นเขาพระวิหารขั้นที่ 162 ลงมาเป็นดินแดนของประเทศไทย แต่ปรากฏว่ามีชาวกัมพูชาประมาณ 500 คน พร้อมด้วยกำลังทหารลงมายึดครอง ดินแดนไทย ปลูกสร้างบ้านเรือนและร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกมานานหลายปีแล้ว โดยที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้ผลักดันให้ชาวกัมพูชาเหล่านั้นออกไปจากเขตแดนไทยแต่อย่างใด "พวกผมจึงร่วมใจกันเดินรณรงค์ เพื่อปลุกชาวศรีสะเกษให้ลุกฮือขับไล่ชาวกัมพูชา ให้รื้อบ้านเรือนร้านค้าและวัดออกไปจากเขตแดนประเทศไทยโดยด่วนที่สุด และหากจะมีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ประเทศไทยก็จะต้องมีส่วนร่วมและมีผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย แต่ข้อย้ำว่า ก่อนที่จะมีการเจรจาขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะต้องผลักดันขับไล่ชาวกัมพูชาให้ออกไปจากบริเวณเชิงเขาพระวิหารให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ผมขอฝากถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วย" นายอรุณศักดิ์กล่าว ด้านนางวณีกมน นันทเสน เลขานุการสมัชชาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าไทยต้องเสียดินแดนเขาพระวิหารให้ประเทศกัมพูชาไปก่อนหน้านี้แล้ว และในปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยก็กำลังจะเสียพื้นที่ให้กัมพูชาอีกครั้ง ในฐานะประชาชนชาว จ.ศรีสะเกษ และชาวไทย ขอต่อสู้ในการทวงคืนเขาพระวิหาร ขับไล่ชาวกัมพูชาให้รื้อถอนร้านค้า บ้านเรือนและวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ออกไปนอกเขตประเทศไทยให้ได้ มีรายงานว่าหลังจากเดินรณรงค์ถือป้ายประท้วงไปทั่วเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษแล้ว กลุ่มสมัชชาจังหวัดศรีสะเกษได้นำป้ายไปติดตั้งไว้บริเวณรั้วหน้าโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ ซึ่งเป็นย่านชุมชน เพื่อให้ประชาชนชาวศรีสะเกษตื่นตัว และจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ เพื่อขับไล่ชาวกัมพูชาให้ออกไปจากบริเวณเชิงเขาพระวิหารในเร็วๆ นี้อีกด้วย วันเดียวกัน นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ (คปศ.) กล่าวภายหลังจากสำรวจรอบบริเวณเขาพระวิหาร ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ว่า จากกรณีที่ดินบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ในฐานะที่เป็นชาวศรีสะเกษมีความรู้สึกว่าเราเสียอธิปไตยไปแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เสียตามคำตัดสินของศาลโลก เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ครั้งที่ ๒ ในคำพิพากษาของศาลโลก ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารทั้งหมดเป็นของกัมพูชา แต่ให้นับพื้นที่ตั้งแต่บันไดปราสาทเขาพระวิหารลงมาเป็นของไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ไทย ก็ได้ไปทำประตูเหล็กปิดตรงบันไดชั้นล่างพอดี ทางกัมพูชาจึงคิดว่าที่ดินของกัมพูชาต้องนับตั้งแต่ตัวบันไดชั้นล่างขึ้นไปจนถึงข้าง บน ส่วนการเสียครั้งที่ ๓ ตามความรู้สึกของชาวศรีสะเกษเห็นว่า การที่ชาวกัมพูชาขยายพื้นที่การสร้างที่อยู่อาศัยลงมาจนถึงแนวทางร่องน้ำไหล และพากันมาตั้งร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก สร้างบ้านเรือนบริเวณเชิงเขาพระวิหารนั้น จริงๆ แล้วจะไปโทษชาวกัมพูชาก็ไม่ถูก เพราะเจ้าหน้าที่ของไทยต้องการจะจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อเปิดจุดผ่อนปรนเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทเขาพระวิหาร จึงต้องการให้ชาวกัมพูชามาขายสินค้าอย่างเป็นระเบียบ โดยจัดสร้างคูหาห้องแถวสังกะสีให้ชาวกัมพูชา และเมื่อมีการสั่งปิดจุดผ่อนปรนเขาพระวิหารแล้ว ทหารไทยก็ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพยายามจะผลักดันให้ชาวกัมพูชากลับไปในเขตแดนของกัมพูชา แต่ชาวกัมพูชาไม่ยอมกลับขึ้นไป ตรงนี้ถือว่าไทยเสียอธิปไตยเป็นครั้งที่ ๓ ส่วนครั้งที่ ๔ ที่ไทยกำลังจะเสียอธิปไตยอีกก็คือ ฝ่ายกัมพูชาได้ทำแผนที่ใหม่เข้ามา เพื่อจะขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งแผนที่ได้ล้ำเขตแดนไทยเข้ามาเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่บริเวณบันไดทางขึ้นเขาพระวิหารและที่บริเวณวัดของชาวกัมพูชา ซึ่งสร้างล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยอย่างชัดเจน ถ้ารัฐบาลไทยยังนิ่งอยู่ ไทยจะต้องเสียอธิปไตยเป็นครั้งที่ ๔ อย่างแน่นอน เขาพระวิหาร...สร้างเมื่อไหร่ ปราสาทเขาพระวิหาร ( Prasat Preah Vihear) เป็นปราสาทหิน อยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในจังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา ติดชายแดนไทย ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร นับเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู ประวัติศาสตร์การเรียกร้องเขาพระวิหาร และยังเป็นแห่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาด้วย เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกในบริเวณนี้ สร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ อย่างไรก็ตาม ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ เมื่ออยู่ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และ สุริยวรมันที่ ๒ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๑๑ และศตวรรษที่ ๑๒ ตามลำดับ ข้อมูล...เขียนโดย sentang http://www.sentangonline.com/ ภาพ...ศิตาลี
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น