ระวังนโยบายผันน้ำโขงทำอีสานป่นปี้ซ้ำรอย “โขง-ชี-มูล” (โครงการทำลายเกษตรกร/และเศรษฐกิจไทย)

on วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรียนพี่น้องเกษตรกร/ชาวนาและสมัชชาคนจนบนเขื่อนราษีไศลที่นับถือ
 
                ไปค้นหามาให้อ่านกันครับ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำของรัฐฯที่ล้มเหลวคือเหตุแห่ง
 
ความยากจนของพี่น้องเกษตรกร/ชาวนาไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศครับ.
 
 
                  ข้อมูล และเหตุผลมีพร้อมอยู่ในบทความเหล่านี้แล้วครับ.
 
 
                                    ด้วยจิตรคารวะ
 
                       ประชุม สุริยามาศ. วย.๗๗๗

Home ข่าวเด่น ข่าวรายวัน English News รายงาน บทความ Sound & VDO 6 Board ข้อมูลย้อนหลัง
บทเรียนชลประทานระบบท่อ สู่ โครงข่ายน้ำแห่งชาติ (water grid)
บุญทอง สะดวก - [ 30 พ.ย. 47, 11:08 น. ]


น้ำถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินวิถีชีวิตของเกษตรกร และทุกอณูของสังคมจะต้องใช้น้ำในการ อุปโภค บริโภค ดังนั้นรูปแบบการจัดการน้ำจึงมีความหลากหลายและแตกต่างกันตามระบบนิเวศของธรรมชาติที่ได้สร้างขึ้นต่อลุ่มน้ำ ลำน้ำ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง กุด หรือแก่ง ต่าง ๆ ที่คงความอุดมสมบูรณ์ตามวัฏจักร ดิน น้ำ ป่า ขณะที่สภาพภูมิประเทศราบลุ่มสลับเนินสูงต่ำไม่เท่ากัน ซึ่งต้องยอมรับว่ามนุษย์เราเองในอดีตและปัจจุบันได้พึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำเนินวิถีชีวีตที่สอดคล้องแล้วก่อให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการน้ำขนาดชุมชนนั้นก็หมายถึงระบบการจัดการน้ำที่ชุมชนสามารถจัดการร่วมกันได้ เช่น ระหัดวิดน้ำ ฝายหินทิ้ง คันนากั้นน้ำ เหมืองฝาย เป็นต้น ซึ่งเป็นการสั่งสมประสบการณ์มายาวนานจนบรรเจิดเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กระทั่งได้ตอบสนองต่อระบบการผลิตของชุมชนยังเป็นการเสริมสร้างรายได้ในห้วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลด้วย
วิกฤตสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมพึ่งโรยราไปฝากไว้แต่ผืนนาที่ไร้ต้นข้าว เนื่องจากผืนแผ่นดินเหล่านั้นได้เป็นพื้นที่ราบลุ่มเลาะริมแม่น้ำ ลำน้ำทำให้น้ำแต่ละสายได้ไหลเชื่อมประสานเปรียบเสมือนสายเลือดหลักของคนอีสาน ชาวนาอีสานเรียกว่า นาทาม ซึ่งเป็นผืนนาที่ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ได้ถ่ายทอดให้เป็นมรดกตกทอดกันมา และสร้างหลักปักฐานได้อยู่ทุวันนี้ จากความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธ์ไม้นานาชนิดและยังสร้างแร่ธาตุอาหารแก่ดินแต่กลับถูกน้ำท่วม ความไม่สมดุลของธรรมชาติได้ส่งผลต่อระบบการผลิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ต้นข้าวอันเขียวขจีต้องจมอยู่ใต้ท้องน้ำนานกว่า 3 เดือน ต้น ใบรากข้าวเน่าเสียหาย และที่หนักสุดชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติต้องลงทุนใช้งบประมาณเพื่อหวังว่าในปีนี้จะได้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ความฝันของเกษตรกรต้องละลายไปกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐนั้นเอง ดังคำกล่าวที่ว่า "เฮ็ดนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง เฮ็ดนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้" สุภาษิตนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ เมื่อปัญหาเรื่องการจัดการน้ำท่วมยังไม่มีวี่แววที่รัฐจะแก้ไขตามข้อเสนอหรือความต้องการของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในแต่ละจุด มิหนำซ้ำปัญหาน้ำท่วมก็ยังฝังรากลึกเข้าไปในสภาวะจิตใจของชาวนาทุกหย่อมหญ้ามาแล้ว 5 ปี
น้ำท่วมก้าวพ้นไปวิกฤตภัยแล้งก็ส่งแสงประกายอันเจิดจ้าทุกภูมิภาคของประเทศและมีทีท่าว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลในปัจจุบันให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และปัญหาภัยแล้งได้คร่าพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศประมาณ 14.74 ล้านไร่ คาดว่ามีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 9.49 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ซึ่งมีอยู่ 5 ล้านไร่ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่าจะกู้คืนได้ โดยเฉพาะในบางพื้นที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่วิกฤตทางด้านภัยแล้งไปแล้ว
ท่ามกลางความสนใจของหลายหน่วยงานที่จะต้องระดมความคิดและเครื่องมืออุปกรณ์ในการเข้าช่วยพยุงพื้นที่การเกษตรที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง อย่างเช่น เครื่องสูบน้ำ การทำฝนหลวง จากสถานการณ์ข้างต้นได้มีคำถามหลายภาคส่วนว่าทำไมภัยแล้งในปีนี้ถึงเข้ามาเยือนเร็วกว่าทุกปี เชื่อว่าหลายคนเคยสัมผัสกับปรากฏการณ์เหล่านี้มาแล้วทุกปี ซึ่งอาจจะคิดว่าภัยแล้งเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บางกลุ่มอาจจะคิดว่าทำไมการมาเยือนของภัยแล้งถึงเร็วกว่าทุกปี จากการตั้งข้อสังเกตุถึงสภาวะปัญหาภัยแล้งอาจจะช่วยนำกลับไปให้บางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารการจัดการน้ำได้นำมาขบคิด ก็คือ

1.)ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งอันที่จริงดิน ป่าไม้จะเป็นตัวช่วยสร้างความสมดุลของธรรมชาติดูดซับน้ำไว้ เพื่อชะลออการไหลของกระแสน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก การกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากของป่าต้นน้ำจึงทำให้จึงทำให้ในช่วงฤดูแล้งตามสายน้ำต่างๆ ได้มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงผู้คนตลอดลุ่มน้ำทั้งปี จากการรวบรวมข้อมูลป่าไม้ในประเทศไทยเมื่อปี 2536 มีป่าไม้เหลืออยู่ 133,544 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 26.3 เปอร์เซ็นต์ มาปี 2538 มีป่าไม้เหลืออยู่ 131,485 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 25.65 เปอร์เซ็นต์ มาปี 2541 มีป่าไม้เหลืออยู่ 129,722 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 25.28 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูตามตัวเลขแล้วน่าเป็นห่วงว่าการตัดไม้ทำลายป่าได้ส่งผลต่อความไม่สมดุลต่อระบบธรรมชาติ และมีแนวโน้มว่าป่าแนวในประเทศไทยจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมปะทุขึ้นอย่างหนักแน่นอน

2.) การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด เนื่องจากการคำนวนตัวเลขปริมาณน้ำฝน เขื่อนหรือฝาย ที่อยู่ในการดูแลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีหน้าที่ในการกักเก็บน้ำ เพื่อแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรได้นำน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะตาย กลับไม่สามารถแจกจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรได้ในบางพื้นที่ เพราะว่าเขื่อนหรือฝายบางแห่งมีน้ำเหลือไม่ถึง 50 % บางพื้นต้องถูกประกาศเตือนว่าปีนี้ห้ามเกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนจากการประเมินในสภาวะธรรมชาติของน้ำแล้ง และน้ำท่วม เขื่อนหรือ ฝายไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาได้เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำถูกรวมศูนย์ไว้นั้นเอง

3.)การสร้างคันคู หรือคันไดค์ รอบอ่างเก็บน้ำ กุด แก่ง ต่างๆ ทำให้ระบนิเวศต้องเปลี่ยนแปลงไป และระดับการกักเก็บน้ำก็ได้ไม่เต็มที่ในช่วงฤดูน้ำหลาก เนื่องจากการสร้างคันคู หรือคันไดค์ รอบอ่างเก็บน้ำ กุด แก่ง ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 กว่าไร่ ส่งผลให้เกิดวัชพืชสนมทับถมกันมากขึ้นในแต่ละปี เพราะว่าระบบนิเวศเดิมตั้งแต่ยังไม่สร้างคันคูหรือคันไดค์ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำได้พัดพาเอาวัชพืชสนมออกทำให้ระบบเหล่านี้รับน้ำได้เต็มที่ ปัจจุบันเมื่อมีการสร้างคันคูหรือคันไดค์รอบอ่างประกอบกับการสร้างประตูระบายน้ำที่ๆไม่สอดคล้องยังผลให้ในช่วงฤดูน้ำหลากไม่สามารถที่จะพัดพาเอาวัชพืชสนมออกได้จึงทำให้ระดับการเก็บน้ำได้น้อยกว่าเดิม
การบริหารการจัดการน้ำในช่วงน้ำท่วม หรือภัยแล้ง ได้มีหลายหน่วยงานได้หยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบาย เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะกล่าวถึงการประกาศนโยบายการจัดการน้ำในรูปแบบใหม่เราน่าจะย้อนหันไปทบทวนบทเรียนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆ ในอดีตก่อน ก็คือ
1. โครงการโขง - ชี - มูล เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 42 ปี ใช้งบประมาณ 228,000 ล้านบาท ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 เป็นการก่อสร้างฝาย 15 ตัวในแม่น้ำชี มูล และลุ่มน้ำอื่น ระยะที่ 2 เป็นการสร้างคลองส่งน้ำ ระยะที่ 3 เป็นการผันน้ำโขงเข้ามาเติมในลุ่มน้ำชี มูล ตามโครงการเริ่มปี 2532 แต่ที่น่าแปลกใจก็คือว่าเมื่อการก่อสร้างฝายระยะที่ 1 เสร็จปี 2543 โดยใช้งบประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท ชาวนาในลุ่มน้ำชีและมูลกลับได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง และปัญหาดินเค็ม
2.โครงการชลประทานระบบท่อนำร่อง 10 โครงการทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคอีสาน 6 โครงการ ภาคตะวันออก 3 โครงการ ภาคกลางตอนล่าง 1 โครงการ ใช้งบประมาณ 875 ล้านบาท มีพื้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ 50,000 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจกจ่ายน้ำยังพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานที่ไม่สามารถส่งน้ำไปถึงโดยระบบชลประทานคลองเปิด ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยรัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิติ เป็นผู้นำเสนอในสมัยนั้น ใช้ระยะเวลาในการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 คาดว่าแล้วเสร็จปี 2546 เมื่อโครงการชลประทานระบบท่อนำร่องแล้วเสร็จก็ไม่สามารถที่จะแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ เนื่องจากว่า 1. ปัญหาท่อแตก ซึม รั่ว 2.ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ค่าบำรุงรักษา 3.เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และเกษตรกรไม่สามารถที่จะเข้าบริหารจัดการได้ 4.ปัญหาด้านการไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงการที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากพืชยังชีพมาเป็นพืชเชิงพาณิชย์มากขึ้น
บทเรียนข้างต้นคงจะเป็นกระจกที่ส่องสะท้อนถึงความฝันของนโยบายรัฐได้ว่าการประกาศนโยบายโครงข่ายน้ำแห่งชาติอย่างแข็งกร้าวเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ให้เสร็จภายใน 5 ปี ทั้งศึกษา ออกแบบ ดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณราว 400,000 ล้านบาท หวังว่าจะควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในระบบกำลังเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์จากนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน กันอย่างหนักว่าการบริหารจัดการน้ำจะต้องคิดให้รอบคอบและละเอียดอ่อนในเรื่อง น้ำต้นทุน ความไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การใช้งบประมาณในการลงทุนสูง เป็นต้น บทเรียนการบริหารการจัดการน้ำที่ผิดพลาดน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนอย่างจริงจังเพื่อเป็นอุธาหรณ์เตือนสติของผู้ล่าอภิมหาโครงการพัฒนาต่างๆ


บุญทอง สะดวก
เจ้าหน้าที่โครงการสิทธิชุมชนศึกษากรณีน้ำชี ภาคอีสาน

 

 

 

 

 

แถลงการณ์ ๑๕ ปี โครงการโขง ชี มูล อีสานฉิบหายวายวอดด้วยการบริหารที่ฉ้อฉล
เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน - [ 22 ก.พ. 47, 15:48 น. ]

แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน

๑๕ ปี โครงการโขง ชี มูล อีสานฉิบหายวายวอดด้วยการบริหารที่ฉ้อฉล
และโครงการชลประทานระบบท่อก็กำลังมาแบบเดียวกัน

ความพยายามของรัฐบาลในการที่จะบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ภาคอีสาน โดยการสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อเก็บกักและกระจายน้ำไปสู่ไร่นาของเกษตรกร ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดทำโครงการแต่ความพยายามดังกล่าวนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังก่อปัญหาให้กับวิถีชีวิตชาวอีสานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง รูปธรรมที่ปรากฏชัดเจนคือบทเรียนจากโครงการ โขง
ชี มูน ที่คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมสัญจร ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ เพื่อสร้างพื้นที่ชลประทาน ๔.๙๘ ล้านไร่ โดยแบ่งโครงการเป็น ๓ ระยะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ๔๒ ปี รวมงบประมาณ ๒๒๘,๐๐๐ ล้านบาท

แต่ด้วยความเป็นโครงการขนาดใหญ่แค่เพียงระยะที่ ๑ ของโครงการต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวน ๑๐,๓๔๖ ล้านบาท แม้จะถูกทักท้วงจากนักวิชาการมาตลอดว่าจะเกิดผลกระทบมากมาย ทั้งด้านการแพร่กระจายของดินเค็ม ความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ การแพร่กระจายของหอยบางชนิดที่เป็นพาหะโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น แต่ด้วยพลังผลักดันของนักการเมืองและข้าราชการ การตัดสินใจดำเนินโครงการโขง ชี มูล จึงเป็นไปอย่างรวบรัด โดยไม่สนใจข้อท้วงติงใดๆ และด้วยความดื้อตาใสของรัฐบาล ที่เร่งรัดดำเนินการ โครงการ โขง ชี มูล จนเป็นเหตุแห่งความความฉิบหายของแผ่นดินอีสานดังนี้

๑. การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม พื้นที่ ๑ ใน ๓ ของภาคอีสานเป็นพื้นที่ดินเค็ม โครงการโขง ชี มูล ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ดินเค็ม ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ ที่ราษีไศล
หนองหานกุมภวาปี และเขื่อนอื่น ๆ ทุกเขื่อนในลุ่มน้ำมูนที่ราษีไศล ศึกษาจากแผนที่ดินเค็มจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ตามข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดิน ปรากฎมีโดมเกลืออยู่ใต้พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ ๑๐ ตารางกิโลเมตร และจากการศึกษาของกรมพัฒนาที่ดิน (ตามเงื่อนไขการอนุมัติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖) ก็พบว่า โครงการเขื่อนราษีไศลก่อให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม จนไม่สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ ชาวบ้านในพื้นที่นำน้ำมาใช้รดพืชผัก ทำให้พืชผักตาย นำมาใช้ทำนาปรังก็เกิดส่าเกลือในไร่นา ขนาดต้นไม้ในนายืนต้นตาย

คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก) ได้เสนอให้ชะลอโครงการโขง ชี มูลไว้ก่อนเมื่อวันที่ ๗ เมษายน และ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๖ และตั้งเงื่อนไขสำคัญ เช่น

(๑) ให้มีระบบระบายน้ำที่เหลือจากพื้นที่ชลประทาน (Drainage) ประเด็นนี้โครงการโขง ชี มูลเคยอ้างว่าจะทำ ทำแบบโครงการในประเทศออสเตรเลีย แต่ความจริงคือไม่ทำอะไรเลยในทุกพื้นที่ทั้ง ๑๔ โครงการในโขง ชี มูล ในระยะที่ ๑ ถ้าทำจริงก็จะแพงสุดยอด แพงกว่าราคาลงทุนของโครงการโขง ชี มูลเสียอีก

(๒) ให้มีการศึกษาผลกระทบดินเค็มโดยสร้างแบบจำลองทางธรณีวิทยา เรื่องนี้ โครงการได้จ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ (หลังจาก คชก. มีความเห็นมาเกือบ ๔ ปี ราคาจ้าง ๖๔ ล้านบาทใช้เวลาตามสัญญา ๓๐ เดือน แต่ถึงปัจจุบันเวลาผ่านมา ๗ ปีแล้ว ยังศึกษาไม่เสร็จและมีแนวโน้มว่าจะไม่เสร็จง่าย เพราะมีข้อโต้แย้งที่ยังมากมายโดยเฉพาะ ระยะก่อนการก่อสร้างไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานไว้ก่อนจึงไม่มีข้อมูลจะเปรียบเทียบกับระยะหลังการก่อสร้าง ภายในโครงการโขง ชี มูล ผู้รับผิดชอบถึงขั้น "ถอดใจ" แล้ว แต่ด้วยโครงการขับเคลื่อนมาด้วยอำนาจและผลประโยชน์แล้วจึงขับเคลื่อนต่อไป ต่อมาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมุขมาขายโปรเจ็กต์ใหม่คือ "ชลประทานระบบท่อ" ซึ่งเราต้องจับตาดูต่อไป

(๓) จะเกิดการติดค้างของเกลือตามแนวคลองน้ำและถนนที่ก่อสร้างขวางทางน้ำเดิม ซึ่งไม่มีมาตรการใดจะป้องกันแก้ไขได้เลย

(๔) คลองส่งน้ำขนาดกว้าง ๔๕ เมตรที่จะพาดผ่านจากน้ำชี สู่น้ำมูนผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ จะดึงชั้นเกลือขึ้นมา เรื่องนี้โครงการโขง ชี มูลจะแก้โดยการดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ แต่ปัญหาสำคัญคือจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลและซีเมนต์ก็ไม่สามารถทนการกัดกร่อนของเกลือได้ ที่สุดก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

๒. ไม่มีข้อมูล Back Water คือระดับน้ำท่วมและผลกระทบจากการท่วมเหนือเขื่อนในระดับที่สูงกว่าระดับเก็บกักทุกพื้นที่จะมีปัญหานี้ ที่ราษีไศลระดับเก็บกัก ๑๑๙.๐๐ ม.รทก. แต่เมื่อเก็บกักระดับดังกล่าว ปรากฎว่าการอัดเอ่อของน้ำในฤดูน้ำหลากในบริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไป ๓๐ - ๑๐๐ กิโลเมาต น้ำจะสูงถึง ๑๒๒ - ๑๒๓ ม.รทก. ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังนาข้าวยาวนานจนผลผลิตเสียหายเป็นเช่นน้ำมาซ้ำซากหลายปี เช่นนี้เท่ากับโครงการโขง ชี มูลโกหกชาวบ้านว่าน้ำเหนือเขื่อนจะสูงเพียง ๑๑๙.๐๐ ม.รทก. เท่ากันหมด

๓. คชก. ให้โครงการโขง ชี มูล แก้ไขรายงาน เรื่องการชดเชยทรัพย์สินของราษฎร ในโครงการไม่มีแผนเรื่องนี้ แต่ความเป็นจริงภายหลังปรากฎว่ามีพื้นที่หลายแห่งที่มีปัญหาอ่างเก็บน้ำท่วมที่ดินทำกิน ราษฎรเดือดร้อนมากมายโดยเฉพาะที่เขื่อนราษีไศลเกิดผลกระทบถึง ๑๔๐ หมู่บ้าน ๘ อำเภอ ๓ จังหวัด เป็นจำนวนพื้นที่หลายหมื่นไร่

การดำเนินการจริงของโครงการยังใช้ข้อมูลเท็จเกือบทั้งหมด กรณีเขื่อนราษีไศลโครงการอ้างว่ามีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๓๘,๐๐๐ ไร่ และใช้ข้อมูลนี้โจมตีราษฎรว่าเรียกร้องค่าชดเชยในพื้นที่เกินขอบอ่าง ต่อมาเมื่อกรมชลประทาน (ชึ่งมารับผิดชอบแทน) ได้มาปักหลักขอบเขตอ่างเก็บน้ำ (ปี ๒๕๔๖) ในระดับ ๑๑๙.๐๐ ม.รทก. ตามระดับขอบเขตที่กำหนดไว้ ปรากฎว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำราษีไศลกว้างขวางถึง ๙๓,๐๐๐ ไร่

ในพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกันกับกรณีเขื่อนราษีไศล

๔. ด้านสาธารณสุข การควบคุมพยาธิในปลา หอย และโรคระบาดอื่น ๆ ไม่มีความชัดเจน โครงการโขง ชี มูล ถึงขนาดเสนอว่า "ให้ชาวอีสานเปลี่ยนอุปนิสัยการบริโภค"

๕. แหล่งโบราณคดีในพื้นทีโครงการ ๑๖๗ แห่ง มีเพียงผลการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่ามีที่ไหนบ้างแต่ไม่มีการระบุชัดว่าจะกระทบอย่างไรและแก้ไขอย่างไร ตลอด ๑๕ ปีของโครงการโขง ชี มูล ไม่ปรากฎจะแสดงข้อคำนึงเรื่องเกี่ยวกับโบราณสถานอันเป็นรากเหง้าจิตวิญญาณของคนอีสานเลย มีประการเดียว ดำเนินการดั้มงบประมาณออกมาก่อสร้าง ที่สร้างผลกระทบและเหยียบย่ำหัวใจของชาวอีสานตลอดมา

๖. การคิดความคุ้มค่า คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้โครงการโขง ชี มูลศึกษาผลกระทบ หาทางป้องกันแก้ไขให้ครบถ้วยก่อนและคิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นต้นทุนด้วย

เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้าจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันแล้วเราสามารถพูดได้เลยว่า โครงการ โขง ชี มูล ไร้ความคุ้มค่าอย่างสิ้นเชิงค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายที่โครงการไม่ได้คำนวณ
ไว้ตั้งแต่ต้นคือ

(๑) ค่าชดเชยที่ต้องจ่ายกรณีราษีไศลอาจถึง ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ล้านบาท กรณีเขื่อนหัวนาก็ประมาณเดียวกัน ที่หนองหานกุมภวาปีและอีกหลายพื้นที่ (๒) ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งถ้าให้ครบถ้วยตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้วการแก้ไขอาจต้องใช้งบประมาณมากกว่าราคาค่าก่อสร้างโครงการประสบการณ์ของโครงการเมอรี่ ดาร์ลิ่งในออสเตรเลียที่โครงการโขง ชี มูล ลอกแบบมาถึงขนาดมีระบบระบายน้ำทิ้งเช่นเดียวกับการบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และต้องเจาะสูบน้ำใต้ดินในบริเวณเขตชลประทานซึ่งเค็มมาก ลำเลียงตามท่อไปทำเหมืองเกลือในพื้นที่ที่ไกลออกไปเป็น ๑๐๐ กิโลเมตร จึงจะแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างที่โครงการโขง ชี มูลแอบอ้างอย่างโก้ ๆ คือ ที่ออสเตรเลีย ชาวออสเตรเลียผู้หวังดีเคยนำคนไทยไปดูแล้ว ปรากฎว่าเป็นตัวอย่างเลว ๆ ที่ไม่ควรเอาอย่างแค่นั้นเอง

ลองคิดดูในโครงการในระยะที่ ๑ จะหาพื้นที่ชลประทาน ๕ แสนไร่ ใน ๑๔ โครงการ ราคา ๑๐,๓๔๖ ล้านบาท ขณะนี้ได้พื้นที่ชลประทานที่ใช้ได้จริงที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนชุมพวง รวมแล้วประมาณ ๙๐๐ ไร่เท่านั้นเอง

เฉพาะที่ราษีไศลดูคร่าวๆ จากราคาก่อสร้างและที่จ่ายค่าชดเชยไปแล้วและพื้นที่ชลประทานที่จะได้จริง อาจปรากฏตัวเลขว่า ลงทุนถึง ๑๗๐,๐๐๐ บาท เพื่อได้พื้นที่ชลประทาน ๑ ไร่เท่านั้น ยังไม่นับว่าพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีดินตะกอนแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคอีสานเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งเลี้ยงสัตว์ แหล่งทำกิน แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่นี้ต้องเสียไป ๙๓,๐๐๐ ไร่ เพื่อนำน้ำมาทำนาปรังในที่สูงนาดินทรายเป็นตัวเลขพื้นที่ตามโครงการ ๓๔,๔๒๐ ไร่ และอาจจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยเพราะน้ำเค็ม ดินเค็ม

ขณะที่วิกฤตการณ์จากโครงการโขง ชี มูล ยังไม่เห็นหนทางที่จะแก้ไข อภิมหาโครงการชลประทานขนาดใหญ่ก็ถูกริเริ่มโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในนามโครงการน้ำแก้จน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวม ๔๐๐.๐๐๐ ล้านบาท ด้วยการพัฒนาโครงข่ายน้ำเชื่อมต่อกันด้วยระบบท่อส่งน้ำ แต่จากบทเรียนที่ได้รับจากการติดตามโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำ ตามแผนปฏิบัติการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ โดยรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปีใช้งบประมาณ ๑๓,๔๗๕ ล้านบาท โดยมีข้อสังเกตว่า กรมชลประทานเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนศึกษาและหลังจากได้ดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำในพื้นที่นำร่องแล้วเสร็จ ควรเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับและผลกระทบระหว่างการก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำแบบเดิม กับการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินการตามแผนแม่บทต่อไป

กรมชลประทานได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการโครงการนำร่องเพียง 50,000 ไร่ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ( ปี 2540-2542) วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นของโครงการ 875,000,000 บาท หลังจากนั้นจะประเมินผลของโครงการ ตามข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จากการติดตามโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำนำร่อง ทางเครือข่ายลุ่มน้ำอีสานพบว่า

๑.แม้ในแผนปฏิบัติการและการดำเนินงานของโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำจะระบุขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินโครงการจะเริ่มจากการจัดตั้งองค์กรจัดการโครงการขึ้นมาควบคุมการดำเนินงานและทำประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ให้ยอมรับนโยบายที่ว่าเกษตรกรจะต้องร่วมลงทุนก่อสร้างระบบท่อจ่ายน้ำจากสระรับน้ำไปยังแปลงของเกษตรกรรมของตนเอง และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการทำนามาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย แต่ความจริงในการปฎิบัติจากโครงการชลประทานระบบท่อ บ้านโนนฆ้อง บ้านโพธิ์ตาก บ้านหนองแสง ต.หนองผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านได้รับการชี้แจงจากกรมชลประทานเพียงว่า จะมีโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำ เพื่อส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำนาปี นาปรังหลังจากนั้นผู้นำก็ได้นำข้อมูลไปบอกกับชาวบ้าน ในส่วนชาวบ้านจึงยินยอมให้วางแนวท่อผ่านหน้าบ้าน และพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมกับวางถังพักน้ำจำนวน 15 ถัง จุน้ำในแต่ละถังได้ 108 ลบ.ม. ความสูง 6 เมตร และหัวจ่ายน้ำที่ติดตั้งมิเตอร์เพื่อวัดปริมาณการใช้น้ำของเกษตรกร เท่านั้น ดังนั้น เมื่อชาวบ้านทราบความจริงของโครงการฯ ชาวบ้านจึงคัดค้านการดำเนินโครงการฯ

๒.เมื่อโครงการชลประทานระบบท่อบ้านโนนฆ้องก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการทดลองเปิดน้ำ ปรากฏว่าเกิดปัญหาท่อแตก รั่ว ซึม ไม่สามารถส่งน้ำไปยังท่อส่งน้ำที่อยู่เหนือสถานีสูบน้ำได้
นอกจากนั้นยังพบปัญหาท่ออุดตัน เนื่องจากการสูบน้ำมีดินตะกอนเข้าไปด้วย

๓.เกษตรกรต้องรับภาระค่าไฟฟ้าจากการสูบน้ำทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน โดยกรณีบ้านโนนฆ้อง การตั้งสถานีสูบน้ำต่ำกว่าถังพักน้ำหรือพื้นที่เกษตรของชาวบ้านทำให้เครื่องสูบน้ำต้องทำงานหนักขึ้น

๔.การจัดเก็บค่าคืนทุนตามแผนของโครงการฯ ปัจจุบันโครงการชลประทานระบบท่อบ้านโนนฆ้องยังไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่แท้จริงในการดำเนินโครงการให้ชาวบ้านรับรู้ได้ นอกจากค่าคืนทุนแล้วชาวบ้านยังต้องรับภาระในการซ่อมบำรุงต่อไป

๕.ตามแผนของโครงการฯ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะโอนให้กลับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล แต่กรณีดังกล่าวองค์การบริหารส่วนตำบลหนองผือไม่ยอมรับมอบโครงการดังกล่าว

นอกจากความล้มเหลวในด้านเทคนิคแล้ว ความผิดพลาดในด้านหลักการ การมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนเลือกรูปแบบการผลิตของตนเอง ตามภูมิปัญญา และสภาพของระบบนิเวศ ความล้มเหลวของโครงการชลประทานระบบท่อเกิดขึ้นมาอย่างเด่นชัดแต่กระทรวงเกษตรฯ กลับผลักดันเป็นอภิมหาโครงการครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ สวนทางกับแนวทางที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่พยายามผลักดันแผนแม่บทชุมชนแบบบูรณาการ เข้มข้น ๒๒ ตำบล เพื่อพิสูจน์ทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องของชุมชน

จากบทเรียนความฉิบหายที่ได้รับจากโครงการโขง ชี มูล และความล้มเหลวของโครงการชลประทานระบบท่อ น่าจะเป็นอนุสรณ์เตือนใจคณะรัฐมนตรีตลอดการประชุมสัญจรในครั้งนี้ ไม่ให้กำหนดนโยบาย หรืออนุมัติโครงการใดๆในการพัฒนาอีสาน โดยประชาชนชาวอีสานไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดแต่ต้องเป็นผู้รับชะตากรรมเช่นในอดีตนอกจากนั้นเครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน หวังว่าทิศทางการพัฒนาอีสานในอนาคตต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุลและเป็นธรรม ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

๑.ยกเลิกโครงการโขง ชี มูน และทบทวนการดำเนินการโครงการชลประทานระบบท่อพร้อมทั้งศึกษาผลกระทบหลังโครงการฯ เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอยู่โดยเร็ว
๒.เร่งออกพระราชบัญญัติรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
๓.ส่งเสริมการทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้วางแผนแม่บทของชุมชน ทั้งในด้านการจัดการทรัพยากร ด้านการผลิต รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนาของชุมชน โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นตามความต้องการที่แท้จริงโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ

สุดท้ายนี้เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน ขอยืนยันว่าพวกเราพร้อมเสมอ ที่จะร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชน ถึงระดับประเทศเพื่อความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของพี่น้องประชาชนชาวไทยตลอดไป

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน
21 กุมภาพันธ์ 2547
 

 


วันที่ จันทร์ ตุลาคม 2551

พิมพ์หน้านี้  |  ดูบล๊อกอื่นๆ ที่ OKnation
 

นโยบายน้ำแห่งชาติ ณ วันนี้ ควรศึกษาทบทวนใหม่


(ภาพจาก คนสะตึง)

นโยบายน้ำแห่งชาติ ณ วันนี้ ควรศึกษาทบทวนใหม่
ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง


วิเคราะห์สถานการณ์นโยบายน้ำของประเทศ

(1) นโยบายสร้างเขื่อนและผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ (2547-2551)
              สถานการณ์นโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายหลังการปฏิรูปโครงสร้างส่วนราชการใหม่ได้เริ่มปรากฏชัดเจน โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ได้จัดการประชุมระดับชาติและได้ประกาศแนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำระดับชาติใน 5 ปี (2547-2551) ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทางของประเทศ โดยยังคงเน้นหนักการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการพัฒนานโยบายดังกล่าว มิได้มีสิ่งใหม่แต่ประการใดซ้ำยังแสดงนัยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังอีกมาก
              สาระนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐในอีก 5 ปี เน้นการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 103 ล้านไร่ จัดหาน้ำในฤดูแล้งครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 132.48 ล้านไร่ ข้อกังวลอย่างยิ่งจากนโยบายดังกล่าวนอกจากการก่อสร้างเขื่อนแล้ว คือ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งในภาคเหนือจะมีการจัดทำ โครงการกก-อิง-น่าน และโครงการผันน้ำแม่น้ำเมย-สาระวิน สู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำระหว่างประเทศจากประเทศลาวสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยสามจุด คือ จากลำน้ำงึมสู่ห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี จากเซบังไฟสู่จังหวัดมุกดาหาร และจากเซบังเหียงสู่ลำเซบายเซบก จังหวัดอุบลราชธานี ภาคตะวันออกผันน้ำจากสตึงนัม ประเทศกัมพูชา สู่จังหวัด ตราด จันทบุรี และระยอง ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้มีโครงการจัดทำระบบชลประทานแบบท่อ เครือข่ายส่งน้ำทั่วประเทศ (National Water Grid System) โดยการผันน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่นสู่อ่างเก็บน้ำลำปาวจังหวัดกาฬินธุ์ และสูบน้ำจากแม่น้ำชีจากอำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดชัยภูมิ สู่แม่น้ำมูลในเขต อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แผนงานและโครงการ เหล่านี้มีแผนจะทำการก่อสร้างทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2551
              แม้นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะเกิดผลดีต่อประชาชนในภาคเกษตรโดยจะให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อการอุปโภคและบริโภคและเพื่อการเพาะปลูกได้ตลอดปีในหลายล้านไร่ คาดว่าครัวเรือนเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และคาดว่าประเทศจะสามารถแข่งขันในการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลกได้ตามนโยบายรัฐบาล แต่ความห่วงใยถึงผลกระทบเชิงลบที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลก็มีในหลายประเด็นเช่นกัน คือ หนี้สาธารณะที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และโครงการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำซึ่งต้องกู้เงินต่างประเทศ ผลกระทบของการก่อสร้างและการผันน้ำเหล่านั้นต่อระบบนิเวศในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผลกระทบต่อสิทธิการใช้น้ำของประชาชนและสิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายน้ำขององค์กรท้องถิ่น และผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของแม่น้ำระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงถึงกัน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเน้นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งทั้งสองภาคยังคงมีปัญหาดั้งเดิมค้างคาอยู่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นโยบายการจัดการน้ำใหม่นี้อาจขยายขอบเขตผลกระทบและเกิดข้อขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น ถ้านโยบายดังกล่าวมิได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด ร่วมรับรู้ และร่วมตัดสินใจด้วย

(2) การยกร่าง พ.ร.บ.น้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ
              นับตั้งแต่ปี 2536 ได้มีการร่าง พ.ร.บ. น้ำ มาหลายฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ. น้ำฉบับดังกล่าว ได้รับการท้วงติงอย่างมากจากภาคประชาชนในประเด็นสำคัญ คือ สิทธิการใช้น้ำของภาคประชาชน และอำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารน้ำที่แสดงนัยสู่การแปลงน้ำที่เดิมเป็นสินทรัพย์ทางสังคม (Social Goods) เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า (Economic Goods) เพื่อผลักน้ำเข้าสู่ระบบการจัดการในตลาดเสรี ผลกระทบที่องค์กรภาคประชาชนห่วงใยคือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเกษตรกรที่ยากจนยากจะเข้าถึงน้ำ การผลักดันยกร่าง พ.ร.บ. น้ำ และการแปรรูปน้ำโดยภาครัฐดังกล่าว ใช้ฐานคิดว่าประชาชนผู้ใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยขาดประสิทธิภาพ โดยที่น้ำต้นทุนในประเทศมีปริมาณจำกัด จำเป็นต้องออกร่าง พ.ร.บ. น้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารน้ำอย่างมีเอกภาพ และอีกปัญหาคือการขยายบริการน้ำแก่ประชาชนสามารถทำได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพถ้ามีการแปรรูปน้ำโดยให้เอกชนดำเนินการ
              ล่าสุดกระแสผลักดันให้ประเทศต่างๆ เร่งรัดการกำหนดนโยบายน้ำและการยกร่าง พ.ร.บ. น้ำ เกิดจากความพยายามของบริษัทค้าน้ำข้ามชาติร่วมกับธนาคารโลกในเวที 3rd World Water Forum ซึ่งครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2546 ที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จัดโดย World Water Council (WWC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และประธานที่ประชุม Michel Camdessus เคยเป็นประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Honorary Governor of the Banque de France ซึ่งประเทศฝรั่งเศสนี้เองเป็นต้นกำเนิดของบริษัทค้าน้ำข้ามชาติ WWC และมีองค์กรพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในประเทศสวีเดน คือ Global Water Partnership (GWP) ร่วมสนับสนุนด้วย ทั้ง WWC และ GWP มิได้เป็นองค์กรนานาชาติเช่นหน่วยงานสหประชาชาติแต่ประการใด แต่เป็นองค์กรน้ำระหว่างชาติที่ได้สร้างกระแสและผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศโดยเน้นการให้บริษัทเอกชนระหว่างประเทศเข้ามาบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สถานการณ์ล่าสุดทั้ง WWC และ GWP ได้ร่วมกันผลักดันให้กลุ่มประเทศ G8 ยอมรับข้อเสนอประเด็น Financial Water for All โดยมีสาระให้ตั้งกองทุนยุโรป และให้ IFC (หน่วยธุรกิจของธนาคารโลก) เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารทุน ซึ่งทุนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเงินลงทุนที่ให้องค์กรท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกู้ไปขยายกิจการน้ำและหรืออาจใช้เป็นเงินทุนเพื่อซื้อขายหุ้นบริษัทน้ำในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆ กลุ่มประเทศ G8 ได้ประชุมสุดยอดใน วันที่ 2 มิถุนายน 2546 ณ เมือง Avian ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศแผนปฏิบัติการน้ำสนับสนุนข้อเสนอของ WWC และ GWP ดังกล่าว
              การประกาศนโยบายน้ำของกลุ่มประเทศ G8 คาดว่าจะสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงการบริหารน้ำไปทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายน้ำ การร่างกฎหมายน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
              ล่าสุดสำหรับประเทศไทยได้มีการเคลื่อนไหวการศึกษาทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับน้ำ โดยวันที่ 14 สิงหาคม 2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เซ็นสัญญามอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาเพื่อจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายฝ่ายได้แสดงข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่างกฏหมายฉบับนี้ ที่จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อเสนอว่าถ้าประเทศไทยต้องการปรับปรุงกฎหมายน้ำ ควรให้ประชาชนมีสิทธิร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย เพราะถือว่าน้ำเป็นฐานทรัพยากรชีวิตที่สำคัญ และกฏหมายฉบับนี้อาจถูกแทรกแซงจากนโยบายของประเทศมหาอำนาจทางการเงินดังที่กล่าวข้างต้น และจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างกว้างขวาง

(3) การบริหารจัดการน้ำภายในประเทศโดยใช้หลักการ IWRM และการบริหารลุ่มน้ำ
              นอกจากอิทธิพลของบริษัทข้ามชาติและธนาคารระหว่างประเทศที่พยายามผลักดันกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางการเงิน (G8) ประกาศนโยบายน้ำ ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ปรับเปลี่ยนกฎหมาย (New National Water Laws) แล้ว ทั้ง WWC และ GWP เป็นองค์กรหลักเน้นสร้างกระแสให้ประเทศต่างๆ ใช้เทคนิคการบริหารน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management-IWRM) และเป็นระบบลุ่มน้ำ (Basin Management Technique) ซึ่งมีเนื้อในเน้นระบบอุทกศาสตร์ (Geohydrological Boundary) มิได้รวมความแตกต่างระบบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม
              นอกจากนี้ทั้ง WWC และ GWP ได้ชี้ให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับปรุงนโยบายน้ำเพราะเป้าหมายข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ ข้อตกลงสหประชาชาติที่กำหนดว่าให้แต่ละประเทศสมาชิกบรรลุเป้าหมายการพัฒนา (Millenium Development Goal) โดยในปี 2015 ให้ลดจำนวนประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ให้เข้าถึงน้ำสะอาดได้ (2015 Reduce by Half of the Proportion of People without Sustainable Access to Safe Drinking Water) และ ณ การประชุมสุดยอดล่าสุดที่ เมือง Johannesberg ประเทศแอฟริกาใต้ ปี ค.ศ. 2002 ที่กำหนดว่าแต่ละประเทศ ในปี 2015 ให้ลดจำนวนประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ให้เข้าถึงการสุขาภิบาลพื้นฐานได้ (2015 Reduce by Half of the Proportion of People without Sustainable Access to Basic Sanitation) องค์กรผู้ค้าน้ำข้ามชาติได้ใช้ข้อตกลงนานาชาติเหล่านี้เป็นเครื่องมือผลักดันให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย และทำให้แต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศมาพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานน้ำสะอาดและการจัดการน้ำเสีย เช่น กรณีประเทศไทยได้กู้เงินธนาคารพัฒนาเอเชียมาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่จังหวัดสมุทรปราการและอีกหลายเมือง ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งปล่อยทิ้งร้างไว้เพราะองค์กรท้องถิ่นไม่มีงบประมาณจ่ายค่ากระแสไฟฟ้า
              ในกรณีการจัดการน้ำแบบลุ่มน้ำในประเทศไทย พบว่าธนาคารระหว่างประเทศได้เริ่มมีอิทธิพลต่อการจัดการน้ำของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศในปี 2540 เป็นต้นมา โดยธนาคารโลกได้แนะนำให้ประเทศไทยปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ให้ทุนประเทศไทยศึกษาโครงสร้างการจัดการน้ำโดยใช้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำปิงบน-ล่าง และลุ่มน้ำป่าสัก เป็นต้นแบบ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำเหล่านั้นขึ้น รวมทั้งการผลักดันการยกร่างกฎหมายน้ำด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและนโยบายจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และองค์กรค้าน้ำข้ามชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีความเด่นชัดมากขึ้นทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าบริการจากการเจรจาข้อตกลงทางการค้าและภาษี (WTO/GATS)
              ความพยายามในการปรับแก้กฎหมายเดิมและการยกร่างกฎหมายน้ำใหม่ดังกล่าว ปัจจุบันกลายเป็นคำถามในสังคมว่า กฎหมายดังกล่าวรับใช้ใคร เปิดโอกาสให้บริษัทน้ำข้ามชาติและธนาคารระหว่างประเทศหรือไม่ และมิได้บรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ยากจนจริงๆ ที่อาศัยอยู่ในชนบทใช่หรือไม่ และข้อเสนอจากองค์กรน้ำข้ามชาติ (WWC และ GWP) ที่ผลักดันให้กลุ่มประเทศร่ำรวย (G8) ใช้มาตรการทางการเงิน ผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับปรุงนโยบายน้ำ และร่างกฎหมายน้ำ โดยให้ประเทศเหล่านั้นใช้เทคนิค IWRM บรรจุเป็นสาระในร่างกฎหมายน้ำ รวมทั้งการจัดโครงสร้างองค์กรบริหารลุ่มน้ำ การใช้มาตรการทางการเงิน บีบบังคับประเทศต่างๆ นักวิชาการและองค์กรภาคประชาชนหลายประเทศเริ่มเกิดห่วงใย ว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ตั้งขึ้นมาแล้วและกำลังจะตั้งขึ้นในประเทศไทย (ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 2545) อาจเป็นกลไกและเครื่องมือเพื่อการกู้ยืมเงินธนาคารระหว่างประเทศเพื่อมาลงทุนบริหารน้ำในลุ่มน้ำ ซึ่งคาดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคณะกรรมการลุ่มน้ำจะถูกกำหนดโดยร่าง พ.ร.บ. น้ำ ที่กำลังจะยกร่างขึ้น ให้กลายเป็นองค์กรนิติบุคคล มีหน้าที่กู้เงินจากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และมีหน้าที่เก็บค่าบริการจากผู้ใช้น้ำ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ องค์กรจัดการน้ำลุ่มน้ำในอนาคตมีภาระหนี้สินและทำให้ต้องขึ้นค่าน้ำ ประชาชนบริโภคน้ำแพงทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร โดยองค์กรจัดการน้ำเหล่านี้อาจใช้หลักเศรษฐศาสตร์เป็นมาตรการกล่าวอ้างประกาศใช้แก่ประชาชนโดยทั่วไป เช่น การขึ้นราคาเป็นการสะท้อนภาพราคาน้ำที่เป็นจริง (Full Recovery Tariff) ประชาชนที่มีรายได้สูงอาจได้รับผลกระทบน้อย แต่ประชาชนที่ยากจนเป็นส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับผลกระทบมาก และนี่เองคาดว่าจะเกิดความขัดแย้งในสังคมไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคต ถ้านโยบายน้ำใหม่พยายามมุ่งสู่ทิศทางนี้
              ข้อสงสัยประการถัดมาเกี่ยวกับการนำหลักการ IWRM มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งผลสรุปจากการประชุมนานาชาติ Workshop on Intergarted Water Resources Management for South and South-east Asia จัดโดย Third World Centre for Water Management ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำแถบเอเชียและแปซิฟิก ในวันที่ 2-4 ธันวาคม 2545 ณ กรุงเทพมหานคร รายงานสรุปผลการประชุมขั้นต้นพบว่าไม่มีกรณีศึกษาใดเลยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้ IWRM Model แล้วเกิดผลสำเร็จ ตรงข้ามก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเองภายในลุ่มน้ำระหว่างประชาชนในลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำก็เกิดความขัดแย้งกันในประเด็นเรื่องสิทธิและอำนาจ IWRM Model มิได้นำไปสู่การแก้ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลอย่างทั่วถึงแต่ประการใด ตรงกันข้ามการบริหารน้ำในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรณีที่ประสบผลสำเร็จมิได้ทำตาม IWRM Model แต่ประการใด แต่เป็นการบริหารภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
              ปัจจุบันประเทศไทยได้กำลังพยายามจะดำเนินการบริหารน้ำคล้อยตามหลักการ IWRM Model ดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำมาแล้วในหลายลุ่มน้ำ แต่ประเทศไทยยังมิได้ศึกษาในรายละเอียดแม้กระทั่งในการทบทวนรายกรณีศึกษาของ IWRM ที่เผยแพร่สู่สาธารณะว่าการใช้รูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงลุ่มน้ำในลักษณะนี้มีปัญหามาก ส่วนใหญ่หลายประเทศยังไม่ประสบผลสำเร็จและต้องศึกษาวิจัยอีกมาก แต่ประเทศไทยได้พยายามเร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ครบทุกลุ่มน้ำอยู่ในขณะนี้ ข้อสังเกตประการสำคัญ คือ ได้มีการศึกษาวิจัยรายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศและในประเทศหรือไม่ว่าการจัดการน้ำโดยใช้คณะกรรมการลุ่มน้ำว่ามีข้อดีและข้อเสียต่อประชาชนอย่างไร มีมาตรการ กฎเกณฑ์ โครงสร้างองค์กร และแนวปฏิบัติในรายละเอียดเป็นอย่างไรที่จะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าสถานภาพปัจจุบันที่ไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีการทับซ้อนสิทธิการใช้น้ำของภาคประชาชน และการบริหารน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ด้านการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการนั้นปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงโครงการ Integrated Water Resoures Management Thailand ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน Massachusette Instiitute of Technology-MIT และ NECTEC เป็นต้น ซึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบซอพแวร์ เช่น GIS เครื่องมือและข้อมูลทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรองรับการบริหารน้ำแบบ IWRM Model โดยมีความเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นศูนย์สมองกลในการจัดการน้ำทุกลุ่มน้ำของประเทศ คล้ายดังการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ แต่มิได้รวมความเป็น "คน" เข้าไว้ด้วย หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ตั้งขึ้นมานั้นมีความทับซ้อนอำนาจหน้าที่เชิงบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (Chief Executive Officer-CEO) หรือไม่ ในกรณีลุ่มน้ำมีขอบเขตครอบคลุมหลายจังหวัด ผู้ว่า CEO ต้นน้ำปลายน้ำเหล่านั้นจะประสานงานกันอย่างไร เหล่านี้ยังต้องการการศึกษาหาคำตอบอีกมากในเชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่


--------------------------------------------------------------------------------

องค์ความรู้ที่ขาดไปในกระบวนการพัฒนานโยบายน้ำใหม่ของไทย

(1) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรในสังคม
              จากแนวนโยบายน้ำใหม่ของประเทศ ที่กำหนดโดย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรบริหารน้ำสูงสุดของประเทศ ได้สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวและความต้องการของภาคการเมือง ที่เน้นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำอย่างมากมาย แม้กระทั่งโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำระหว่างประเทศ และการพัฒนาระบบชลประทานระบบท่อดังที่กล่าวข้างต้น ข้อสังเกตประการสำคัญ คือ โครงการเหล่านั้นประชาชนต้องการจริงๆ หรือไม่ และเนื่องจากน้ำเป็นฐานทรัพยากรสำคัญ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือสร้างนโยบายน้ำในระดับชาติและท้องถิ่นเหล่านั้นได้อย่างไรตามสิทธิที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่าองค์กรค้าน้ำข้ามชาติที่กล่าวข้างต้นอาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐ (กรุณาดูตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น) และนี่เองเป็นข้อสงสัยและข้อห่วงใยของภาคประชาชนอย่างยิ่งซึ่งถือว่าน้ำเป็นฐานชีวิตที่สำคัญฐานหนึ่ง ควรใช้องค์ความรู้หลายด้านเข้ามาจัดการ
              ด้านผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากบทเรียนความขัดแย้งในสังคมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศที่ผ่านมา แผนงานและโครงการที่เกิดจากนโยบายน้ำใหม่นี้เกิดข้อกังวลว่าผลกระทบจะไม่ต่างไปจากเดิม และคาดว่าจะเกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นมากมายหลายด้าน ที่สำคัญคือถ้าผลกระทบจากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นใครหรือหน่วยงานใดจะรับผิดชอบหรือเป็นเจ้าภาพ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช่หรือไม่ และคณะกรรมการหรือองค์กรต่างๆ ของประเทศ เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจน คณะกรรมาธิการวุฒิสภาคณะต่างๆ สถาบันวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีโอกาสและมีส่วนให้ความเห็นต่อนโยบายนี้อย่างไร ปัจจุบันยังขาดคำตอบที่ชัดเจน
              เครื่องมือในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ คือ การประเมินผลสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางวิชาการที่ใช้เพื่อการ กลั่นกรองนโยบาย เพื่อให้นโยบายนั้นเกิดความเป็นธรรม เกิดความผาสุข และเป็นไปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่ปัจจุบันทั่วโลกใช้กันทั่วไป สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ใช้เครื่องมือนี้ศึกษาและกลั่นกรองนโยบายนี้หรือไม่

(2) ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเมืองและชนบท
              การแปรรูปกิจการน้ำหรือการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการบริหารน้ำ (Public-Private Partnership) โดยนโยบายรัฐมีเหตุผลเพื่อลดการสูญเสียสิ้นเปลืองงบประมาณการลงทุนที่ต้องจ่ายให้กับรัฐวิสาหกิจไปก่อสร้างขยายโครงข่ายการให้บริการแก่ประชาชน โดยในอนาคตจะแปลงรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นบริษัทมหาชน ให้มีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ และหลายส่วนได้เปิดให้เอกชนสัมปทานจัดบริการประชาชนแทนภาครัฐแล้ว เช่น บริษัท อีสต์วอเตอร์ ที่จัดบริการน้ำในภาคตะวันออก และแนวโน้มในลักษณะเช่นนี้จะมีมากยิ่งขึ้น
              ข้อกังวลสำคัญจากเหตุการณ์นี้ คือ จากบทเรียนในหลายประเทศ เช่น กรณีประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการแปรรูปไฟฟ้าก่อนประเทศไทยและค่อนข้างประสบผลสำเร็จ และประเทศนี้ได้แปรรูปน้ำในลักษณะเดียวกันตามมาโดยการแก้กฎหมาย ภายหลังปรากฏว่าเกิดความล้มเลวในการแปรรูปกิจการน้ำของประเทศนี้ แม้กระทั่งมลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกาศยกเลิกการให้สัมปทานน้ำโดยบริษัทเอกชน เพราะมีปัญหาด้านความเป็นธรรม ประชาชนผู้ยากไร้ได้รับผลกระทบมาก เกิดโรคท้องร่วงระบาดมาก ค่าน้ำแพง ทำให้ต้องมีการลักลอบขโมยน้ำ บริษัทไม่ยอมมาซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ท่อน้ำเมื่อประชาชนร้องเรียน และในหลายเมืองในประเทศอาร์เจนตินา ได้ปรับระบบการแปรรูปใหม่ โดยดึงกิจการน้ำกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิมและให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นผู้ถือหุ้นแทน เพราะแท้จริงแล้วโดยพื้นฐานน้ำถือเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะน้ำคือชีวิต ดั่งเช่น กระแสพระราชดำรัสขององค์พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "......ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้...." คำถามสำคัญ ณ ที่นี้ คือ รัฐบาลมีหลักประกันและมาตรการอย่างไรเมื่อเกิดการแปรรูปน้ำดังกล่าวจะไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกิดความเป็นธรรมในการใช้น้ำโดยเท่าเทียมกันในสังคมหรือไม่ระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและบริการ ภาคเมืองและชนบท การให้สัมปทานน้ำแก่บริษัทเอกชนในภาคตะวันออก ได้แสดงเค้าลางผลกระทบที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว โดยประชาชนในจังหวัดเหล่านั้นเริ่มจ่ายค่าน้ำแพงเช่นค่าน้ำในจังหวัดชลบุรีมีอัตราสูงกว่ากรุงเทพมหานคร เป็นต้น และให้ความสำคัญต่อการจ่ายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อนภาคชุมชน

(3) การลืมมโนสำนึกวิถีไทยกับสายน้ำ
              วัฒนธรรมไทย และวิถีไทย ถือเป็นมรดกและเป็นจุดแข็งของชาติ คนไทยตั้งรกรากอยู่ในเขตมรสุม ไม่ขาดแคลนน้ำ คนไทยมีวิถีชีวิตมีความผูกพันกับสายน้ำ การจัดสรรน้ำภายในลุ่มน้ำย่อยระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำเป็นไปอย่างเอื้ออาทร คนไทยโดยเฉพาะสังคมพุทธนับถือน้ำ มีประเพณีต่างๆ เกี่ยวกับสายน้ำ เช่น การลอยกระทง การสืบชะตา เป็นต้น จิตวิญญาณของคนไทยมีการอนุรักษ์น้ำ ให้ "ค่า" ของน้ำเป็นเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่าให้ค่าทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา ปล่อยสัตว์น้ำ ขนทรายเข้าวัด ตลาดน้ำ เหล่านี้ล้วนเป็นวิถีไทย และสิ่งเหล่านี้ยังขาดการศึกษาวิจัยอีกจำนวนมากที่ประเมินคุณค่าวิถีชีวิตแบบไทยกับสายน้ำ เพื่อให้เข้าใจความเป็นคนไทย แม้จะยังขาดข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอ แต่เหตุการณ์ชีวิตประจำวันของคนไทยดังกล่าวนี้ได้สะท้อนภาพความผูกพันกับสายน้ำโดยเฉพาะชุมชนชนบท นโยบายรัฐข้างต้นโดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายน้ำข้ามลุ่มน้ำ การให้สัมปทานการจัดการน้ำ หรือการบริหารน้ำโดยไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมในกระบวนการตัดสินใจ จะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ ของคนไทยเป็นอย่างมาก

(4) ตรรกแห่งความต้องการน้ำ
              คนไทยมิได้ขาดแคลนน้ำดื่มดั่งที่คิด จากข้อมูลล่าสุดของ WHO/UNICEF 2001 ได้วิเคราะห์ข้อมูลประเทศไทยพบว่าคนไทยเขตเมืองและชนบทสามารถเข้าถึงและดื่มน้ำสะอาดได้ ร้อยละ 98 และ90 ตามลำดับ ส่วนการสุขาภิบาลในที่นี้หมายถึงการการมีส้วมใช้พบว่ามีความครอบคลุม ครัวเรือนเขตเมืองและชนบทร้อยละ 98 และ 96 ตามลำดับ ดังนั้นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างนานาชาติที่ตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ. 2015 ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นปัญหาสำหรับประเทศไทย แต่น่าจะเป็นกิจกรรมการพัฒนาของประเทศอื่นมากกว่า การกำหนดวิสัยทัศน์น้ำของประเทศ ที่ว่า "ภายในปี 2548 (ค.ศ. 2015) ประเทศไทยจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ โดยระบบการบริหารจัดการองค์กร ระบบกฎหมายในการใช้น้ำที่เป็นธรรม ยั่งยืน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมในทุกระดับ " นั้น น่าจะไม่เหมาะสมเพราะนอกจากลอกเลียนแบบนานาชาติที่ว่าด้วยการจัดหาน้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ที่มิใช่สถานการณ์ปัญหาของไทยในขณะนี้แล้ว ยังมีการเพิ่มประเด็นแสดงนัยการบริหารน้ำ กฎหมาย และองค์กรการจัดการน้ำ ซึ่งการกำหนดวิสัยทัศน์ในลักษณะนี้ประชาชนอาจไม่ต้องการก็ได้ ถ้าจะกำหนดวิสัยทัศน์น้ำใหม่ ควรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์มากกว่า
              นโยบายน้ำใหม่ภาครัฐที่เน้นการก่อสร้างต่างๆ ข้างต้น สะท้อนภาพความต้องการน้ำของภาคเกษตรมากกว่าภาคส่วนอื่น ซึ่งสถิติในปี ค.ศ. 1998 พบว่าปริมาณการใช้น้ำภาคเกษตร ชุมชนบ้านเรือน และอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 89, 7 และ 4 ตามลำดับ และถ้ามีการส่งเสริมเร่งรัดขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อการเพาะปลูกจะทำให้เกิดความต้องการน้ำมากขึ้น (Supply Induces Demand) คำถามสำคัญที่องค์กรภาคประชาชนแสดงความห่วงใย คือ ความเชื่อมโยงน้ำกับภาคส่วนต่างๆ มิใช่มุ่งประเด็นน้ำแต่เพียงอย่างเดียว เช่น ประเด็นศักยภาพของดินว่าสามารถรองรับการปลูกพืชหลายครั้งต่อปีได้หรือไม่ ปริมาณปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ ความคุ้มทุนของเกษตรกรในการเพาะปลูกซึ่งขึ้นกับราคาผลผลิตตลาดโลก เหล่านี้นโยบายน้ำต้องเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น หรือแม้กระทั่งกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีปริมาณของเสียตกค้างในไร่นาจากการเพาะปลูกหลายครั้งต่อปีโดยเฉพาะพื้นที่นาภาคกลาง ซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนทำให้น้ำในลุ่มน้ำเน่าเสียรุนแรง เช่น กรณีการเน่าเสียของลุ่มน้ำท่าจีน เป็นต้น
              การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ แนวตะวันออก คือ การผันน้ำจากแม่น้ำโขงสู่ภาคเหนือ จากโครงการ กก-อิง-ยม-น่าน ใช้เขื่อนแม่งัด เขื่อนสิริกิต์ และเขื่อนป่าสัก แนวตะวันตกผันจากแม่น้ำสาระวินสู่เขื่อนภูมิพล ทั้งหมดเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครอย่างพอเพียง การผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากกัมพูชาสู่ภาคตะวันออกก็เช่นกัน เหล่านี้คาดว่าอาจเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างประเทศ นโยบายน้ำของรัฐในลักษณะนี้คล้ายดั่งเป็นไปเพื่อการเพิ่มน้ำต้นทุนเท่านั้น มิได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงระบบนิเวศ ความสัมพันธ์น้ำ ป่า ดิน พืช สัตว์ และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น
              นโยบายน้ำใหม่ของรัฐจำเป็นต้องมีการศึกษาทบทวนอย่างรอบคอบ โดยต้องศึกษาผลดีผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตลอดจนทางเลือกต่างๆ ที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดและประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง ถ้ามิเช่นนั้นแล้วนโยบายนี้จะนำพาประชาชนในประเทศเข้าสู่ภาวะเสี่ยง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่แก้คืนยากและเกิดผลกระทบอย่างมากต่อฐานทรัพยากรชีวิตคนไทยในอนาคต


--------------------------------------------------------------------------------

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงของทุกภาคส่วนในสังคม และเพื่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรดำเนินการ ดังนี้
             (1) รัฐบาลควรทบทวนนโยบายน้ำใหม่ทั้งหมด โดยจัดให้มีการศึกษาวิจัยและทบทวนบทเรียนต่างๆ ให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอทุกด้าน ไม่ควรรีบเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ชลประทานระบบท่อ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ การแปรรูปน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจทางเลือกในทางเลือกต่างๆ รวมทั้งให้ชะลอกิจกรรมการศึกษาออกแบบโครงการต่างๆ ที่ระบุตามนโยบายเหล่านั้นไว้ก่อน
              (2) ควรสร้างนโยบายใหม่โดยให้ภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาชนร่วมกำหนดนโยบายน้ำ รวมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์น้ำใหม่ ซึ่งเดิมหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ระบุให้สิทธิขั้นพื้นฐานภาคประชาชนที่สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาครัฐได้ และเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือหลักการที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

สังเคราะห์และสรุป โดย

ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง
(25 สิงหาคม 2546)
ผู้ประสานงานเครือข่ายสาขานโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ สวรส. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากhttp://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content1/show.pl?0129

 

 

 

ระวังนโยบายผันน้ำโขงทำอีสานป่นปี้ซ้ำรอย "โขง-ชี-มูล"

   "คนคิดว่าอีสานแล้ง แต่ความจริงไม่ได้แล้ง ฝนมาตกเอาตอนท้ายฤดูคือกันยายน-ตุลาคม ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคอีสานที่มีความจุประมาณ 7,800 ล้านลบ.ม. ชลประทานก็ทำได้ตามแผนเกือบทุกปี ประเด็นคือฝนที่ตกกลายเป็นน้ำท่า คำถามอยู่ที่ว่าเราจะจัดการอย่างไร...."เรื่องโดย ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม

นับเนื่องจากการแถลงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะเดินหน้าโครงการผันน้ำลอดอุโมงค์จากแม่น้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานนั้น ทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มทุนและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ล่าสุด (3มี.ค.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนาในหัวข้อ "โครงการโขง-ชี-มูล : บทเรียน ผลกระทบ และทางออก" ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องคำนึงถึงบทเรียนที่ผ่านมา

ทั้งนี้โครงการโขง-ชี-มูลนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อผลกระทบอย่างมหาศาลในภาคอีสานตั้งแต่ผลกระทบเรื่องการแพร่กระจายของดินเค็ม และน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้ชุมชนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และสูญเสียอาชีพ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า โครงการโขง ชีมูล นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อหาน้ำให้ภาคเกษตรในภาคอีสาน และสร้างงานในชนบท โดยมีแนวผันน้ำตามอุโมงค์สำคัญ 2 แนว ได้แก่ แนวอุโมงค์แม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ และแนวหนองคาย อ.โพนพิสัย- ห้วยหลวง ซึ่งจะดึงน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีรวม 4.89 ล้านไร่

อย่างไรก็ตามความพยายามในการผันน้ำโขงมาใช้มีมาโดยตลอด แต่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง เพราะถูกทักท้วงเยอะจากนักวิชาการ รวมถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในช่วงปี 2532-2535 เนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อาทิ การแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือข้อพิพาทเรื่องการใช้นำระหว่างประเทศ จึงทำให้โครงการโขง-ชี-มูล ทั้ง 3 ระยะในส่วนที่จะมีการผันน้ำโขงไม่สามารถทำได้ แต่มติครม.เมื่อปี 2537 ก็อนุญาตให้โครงการโขงชีมูลดำเนินการใช้น้ำในประเทศก่อน เพื่อจัดสรรน้ำในพื้นที่ประมาณ 5 แสนกว่าไร่ จึงทำให้เกิดเขื่อนกั้นลำน้ำมูล และน้ำชีเป็นช่วงๆ มากมาย นอกจากนี้มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ยังให้มีการศึกษาผลกระทบ ความคุ้มค่า ของการใช้น้ำในประเทศก่อน ส่วนการใช้น้ำโขงให้ไปศึกษาเพิ่มเติม

หวั่นพี่น้องไทย-ลาวเปิดสงครามแย่งน้ำ

เสิศศักดิ์ ชี้ว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก มันไม่ใช่การสูบน้ำมาเฉยๆ เพราะมีปัจจัยการใช้น้ำจากประเทศทางตอนล่างของน้ำโขง รวมถึงการสร้างเขื่อนจำนวน 8 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ซึ่งทำให้ปริมาณการไหลของน้ำในช่วงฤดูแล้งแห้งขอด หรือลดลงไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญประเทศทางตอนล่างของแม่น้ำโขงไม่สามารถควบคุมปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งได้ นี่คือตัวแปรสำคัญ และเป็นเหตุผลสำคัญที่อย่างน้อยประเทศลาวคงไม่ยอมให้ไทยสูบน้ำอย่างแน่นอน เพราะลาวต้องใช้น้ำโขงเช่นกัน หากไทยจะสูบน้ำโขงมาใช้ ก็ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีหลังจากการเยือนประเทศลาวก็บอกว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

"หากลาวและไทยไม่พร้อมที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงร่วมกัน ก็มีทางเลือกที่ซื้อน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ของประเทศลาว ต้องทำท่อลอดแม่น้ำโขง หลายองค์กรสนับสนุนแนวทางนี้กันมาก แต่ประเด็นนี้ต้องคิดต่อว่าเมื่อมีการซื้อน้ำมาจะมีการคิดค่าการใช้น้ำกับเกษตรกรหรือไม่ เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างการเกษตรกรในภาคอีสานเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการจ่ายค่าน้ำได้น้อยตามร่างกม.น้ำ คิดว่าทั้ง 2 ทางเลือกต้องใช้เวลาศึกษาอีกยาวนาน และก่อนจะไปถึงโครงการไฮโดรซิลแนวคิดของรัฐบาลปัจจุบัน ต้องประเมินความคุ้มค่าจากโครงการโขง-ชี-มูลก่อนด้วย จากการศึกษาทบทวน พบความผิดพลาดของโครงการที่น่าสนใจ อาทิ"

ประการแรก นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการ แนวผันน้ำ 1 ห้วยหลวง-หนองหาร เป็นแนวผันน้ำที่นักการเมืองเลือก เพราะต้องการให้ผ่านจังหวัดของตน ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการจำนวนมากท้วงติงให้เลือกแนวผันน้ำจากเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากมีส่วนต่างของระดับน้ำที่สามารถผันน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่ต้องสูบขึ้นมาเป็นช่วงเหมือนแนวผันน้ำที่ 1 ทำให้ต้นทุนในการผันน้ำสูงขึ้น แม้การผันน้ำโขงจะยังไม่เกิด แต่ก็ได้มีการก่อสร้างเพื่อรองรับการผันน้ำดังกล่าวไปแล้ว เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและอ่างเก็บน้ำหนองหาร คาดว่าแนวผันน้ำนี้จะเป็นทางเลือกของโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงอยู่ เพราะหากไทยจะเปลี่ยนมาดึงน้ำจากห้วยงึมของลาวจุดที่ใกล้ที่สุดก็คือห้วยหลวง

ประการที่ 2 โครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นการจัดหาน้ำแบบให้เปล่ากับเกษตรกร แต่ต้องอาศัยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อดึงให้เกษตรกรอีกทอด ซึ่งจะไม่เรียกว่าเป็นการเสียค่าน้ำ แต่เรียกว่าการเสียค่าไฟฟ้าสูบน้ำ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิมช่วยจ่ายค่าน้ำให้เกษตรกรกว่าร้อยละ 60 แต่บทเรียนของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา (2510-2532) จัดสรรน้ำให้พื้นที่การเกษตรเพียงร้อยละ 14 ของพื้นที่โครงการฯ เท่านั้น

ประการที่ 3 มติครม.มกราคม 2537 ระบุให้ก่อสร้างโครงการโขงชีมูลเฉพาะที่ใช้น้ำในประเทศเสียก่อน ส่วนการผันน้ำโขงต้องศึกษารายละเอียดและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนจัดทำข้อเสนอ แผนงานป้องกัน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่งานศึกษาดังกล่าวยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน ในทำนองเดียวกับการศึกษาเรื่องการแพร่กระจายดินเค็ม กรมศึกษาและพัฒนาพลังงานได้ว่าจ้างให้กรมพัฒนาที่ดิน ศึกษาการแพร่กระจายของดินเค็มเพิ่มเติม โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีขอนแก่นให้จัดทำแบบจำลองทางอุทกวิทยาการแพร่กระจายของดินจากการละลายเกลือ การเพิ่มระดับของน้ำใต้ดินจากการสร้างฝาย คลองส่งน้ำต่างๆ งานศึกษาทั้ง 2 ชิ้นหายสาบสูญไปไหน ต้องมีการดึงเรื่องพวกนี้ขึ้นมา

"พอครม.มีมติ ไม่ให้ใช้น้ำโขง รัฐบาลต่อมาก็มีชงโครงการเติมน้ำเติมชีวิตในปี 2542 และโครงการชลประทานระบบท่อ กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง ทั้งนี้เพื่อหวังที่จะใช้น้ำโขงให้ได้ ต่อไปคงจะมีโครงการใหม่เรื่อยๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สุดไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตามต้องทำให้น้ำถึงไร่ของชาวนาได้จริง และเป็นการจัดสรรแบบให้เปล่า"

พบดินเค็มแพร่สะพัด ซ้ำหนักสร้างเขื่อนทับเขื่อน

สนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำป่าทามมูล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โครงการโขงชีมูลใช้เงินไปกว่า 28,000 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายสร้างพื้นที่ชลประทาน 14 โครงการย่อย อาทิ สร้างเขื่อนเป็นช่วงๆ ในลุ่มน้ำมูล 5 แห่ง ลุ่มน้ำชี 6 แห่ง และลุ่มน้ำสาขา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความเสียหาย ยกตัวอย่างผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2536 ได้กำหนดเงื่อนไข เรื่องการศึกษาดินเค็ม พร้อมให้ความเห็นว่า นอกจากการระบบส่งน้ำแบบชลประทานแล้วต้องมีระบบระบายน้ำควบคู่ด้วย เพื่อระบายน้ำที่เกิดจากความเค็มในไร่นาออกไปท้ายน้ำ แต่เท่าที่ติดตามในพื้นที่ 14 แห่ง ยังไม่พบพื้นที่ไหนมีระบบระบายน้ำ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องชะลอการสูบน้ำโขงไว้ก่อน

ตามจริงกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่ อย่างกรณีเขื่อนราษีไศลที่พบว่าหลังปิดเขื่อนความเค็มไม่ถูกระบายออกไปจากการไหลตามธรรมชาติของน้ำ ทว่างานชิ้นนี้กลับไม่มีผลทางการปฏิบัติใดๆ ตามมา ส่วนการศึกษาอื่นที่น่าสนใจคือการศึกษาความซ้ำซ้อนของพื้นที่ชลประทานโดยคณะทำงาน ของกรมชลประทาน ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามโครงการโขงชีมูลที่ไปทับซ้อนกับโครงการเดิม กรณีเขื่อนราษีไศลก็พบว่าพื้นที่ของเขื่อนไปท่วม 12 โครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม มันก็คือการสร้างเขื่อนทับเขื่อนนั่นเอง เรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นคำถามต่อไปสำหรับโครงการผันน้ำคือ ค่าใช้จ่าย ต้นทุนในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการคิดคำนวณผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นการลงทุนของโครงการโขง-ชี-มูล ก็ให้ข้อสังเกตว่ามันจะไม่คุ้มตั้งแต่ต้น

"พื้นที่ชลประทานของโครงการที่บอกว่าจะเพิ่ม 4.98 ล้านไร่ต้องสูบน้ำเข้ามากว่า 4.2 ล้านไร่ เพราะฝายหรือเขื่อนในลุ่มน้ำมูลและน้ำชีให้พื้นที่ชลประทานเพียง 4 แสนกว่าไร่ นอกจากนั้นโครงการก็ไปฝากความหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือ การยกระดับสันเขื่อนลำปาว และอื่นๆ ให้สูงอีก 1.5 เมตร ซึ่งน้ำก็จะท่วมมากขึ้น ต้องอพยพราษฎร สิ่งเหล่านี้บริษัทที่ปรึกษาก็แนะนำว่าให้ซื้อออก คือ จ่ายค่าชดเชยเต็มที่ ซึ่งก็เกินราคาของโครงการโขงชีมูลที่จะทำได้"

สร้างระบบชลประทานในไร่นาคือทางออก

สนั่น บอกว่า เรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิด ยอมรับว่ากำลังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องผลิตขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งการจัดการน้ำขนาดใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ระบบการผลิตแบบทุนนิยมมันเป็นไปได้ แต่ประสบการณ์เรื่องเขื่อนนานนับ 50 ปี พอจะมองเห็นได้ว่าความยั่งยืนของการจัดการน้ำแบบเขื่อนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งอีก10-20 ปีข้างหน้าอาจต้องมีการทุบเขื่อนหลายแห่งทิ้ง

ดังนั้นเราอาจจะต้องคิดถึงภูมิปัญญาอื่นๆ เช่น ระบบชลประทานแบบเดิมคือชลประทานน้ำฝน คนอีสานก็มีการพลิกแพลงรูปแบบคันนา ให้เหมาะสมกับการผลิตแบบยังชีพ และค้าขายได้ ซึ่งร้อยละ 90 ของพื้นที่ก็ยังคงใช้ระบบชลประทานแบบครอบครัวระดับแปลงอยู่ แต่เนื่องจากในบางปีของภาคอีสานจะเกิดภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องมีระบบน้ำย่อยที่สุดในไร่นาขึ้นมา ตรงนี้เราไม่ค่อยมีองค์ความรู้เรื่องระบบน้ำไร่นา มีแต่จะทำลาย เพราะว่ามันใช่โครงการที่ใช้เงินมหาศาลในการวิจัยเรื่องคันนา นักวิจัยก็ไม่สนใจ

เรื่องแหล่งน้ำในไร่นา เคยมีโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ทำโครงการขึ้นมา ชาวบ้านบริหารเอง ใช้เงินไม่ถึง 2 หมื่นบาท ได้แหล่งน้ำขนาด 1 ไร่ สามารถใช้เป็นฐานการเกษตรแบบผสมผสานขึ้นมา ที่นี้เรียกว่า"เกษตรทามมูล" หากนำเงินของโครงการโขงชีมูลจำนวน 28,000 ล้าน ไปสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้มันจะช่วยเกษตรกรได้ถึง 1 ล้านคน

"แต่เขาไปเจรจาซื้อขายท่อกันก่อนที่จะมีโครงการชลประทานระบบท่อแล้วมาอ้างเหตุผลว่าจะมาช่วยพี่น้องเกษตรกรนี่คือระบบการใช้อำนาจของรัฐ แทนที่จะทบทวนภูมิปัญญาการจัดการน้ำของชาวบ้าน เราต้องคิดไปให้ถึงการสร้างระบบน้ำในชุมชนในท้องถิ่น และให้ประชาชนสร้างแผนขึ้นมา ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช้เอาตามแนวทางนโยบายของหน่วยงาน ประชาชนก็ต้องกล้าพอที่จะเสนอความคิด หรือระบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับนิเวศ หรือภูมิปัญญา รัฐบาลต้องมาสนับสนุนอย่างไร"

"นอกจากนั้นมติของคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 4 (26 ก.ค. 2536) มีความครอบคุลมอยู่แล้วที่จะติดตามประเมินผลโครงการโขงชีมูล เรื่องนี้ควรจะเป็นเงื่อนไขของการเดินหน้าทำโครงการใหม่ ส่วนตัวคิดว่ามันมีความพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดเผยผลการศึกษานี้อย่างตรงไปตรงมา อาจเป็นเพราะว่ามันชี้ว่าปัญหาดินเค็มในภาคอีสานที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐนั้นจะแก้ไขไม่ได้" สนั่น กล่าวย้ำ

ลุ่มน้ำชี "ช้ำ" เหตุน้ำท่วมซ้ำซากนาน 8 ปี

อกนิษฐ์ ป้องภัย ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลได้สร้างเขื่อน 7 แห่ง บนลำน้ำชี ตอนจะสร้างบอกว่าเป็นฝายยาง แต่ลงท้ายกลับกลายเป็นเขื่อน หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จทุกตัวเมื่อปี 2542 ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป และกว่า 8 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการทำนาปี หน่วยงานราชการก็ส่งเสริมให้ทำข้าวนาปรังที่ต้องลงทุนเยอะ แต่ได้ราคาต่ำกว่าข้าวนาปี

"รัฐบอกว่าว่าสร้างเขื่อนแล้วจะไม่มีผลกระทบ แต่พื้นที่กลับเสียหายจากการสร้างเขื่อนกว้างถึง 6 แสนไร่ คิดเป็นค่าเสียหายของชาวบ้านจำนวน 1 แสนครอบครัว เปลี่ยนเป็นหนี้สินประมาณ 16,000 ล้านถึง 40,000 ล้านบาท ดังนั้นการลงทุนทั้งหมด 28,000 ล้านกับผลที่ออกมาความเสียหายมันคุ้มหรือไม่"

สำหรับโครงการชลประทานระบบท่อนั้น อกนิษฐ์ บอกเล่าว่า ในช่วงสมัยสุวิทย์ คุณกิตติเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ มีมติในเดือนพฤศจิกายน 2540 ให้ทดลองนำร่องโครงการชลประทานระบบท่อ 10 โครงการ แบ่งเป็นภาคอีสาน 5 โครงการ เช่น โครงการหนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ปีไหนฝนน้อยก็ไม่มีน้ำใช้ ยิ่งไปกว่านั้นชลประทานระบบท่อยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งาน กล่าวคือต้องซ่อมท่อแตก ต้องล้างดิน และยังมีปัญหาการลักขโมยทองเหลืองไปขายจนเปิดปิดน้ำไม่ได้

สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องการปลูกพืชที่เหมาะสมกับตลาด และไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดเวลาปิด-เปิดน้ำ ส่วนใหญ่ต้องหันไปทำนาปรัง และเกิดปัญหาเรื่องต้นทุน ตัวอย่างที่บ้านสว่างพัฒนา กิ่งอ.หนองบุนนาค ที่โคราช มีการทำชลประทานระบบท่อแก่สมาชิก 30 ราย โดยทำเป็นระบบท่อน้ำหยดแบบอิสราเอล พอทำไปแล้วเขาบังคับให้สมาชิกต้องปลูกทุเรียนโดยกู้เงินจากธกส. 150,000-200,000 เมื่อผ่านไป 2 ปี สมาชิกหลายรายก็ต้องเลิกปลูกไป เพราะขาดเงินหมุนเวียน ทุเรียนต้องใช้เวลาก่อนเก็บผล 5-6 ปี หรือไม่ก็ทนกับการใช้สารเคมีไม่ไหว รวมถึงขาดประสบการณ์ สุดท้ายสมาชิกก็แยกย้ายเลิกใช้จากหนองน้ำเดียวกัน บางรายไปขุดบาดาล เป็นต้น

จากตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าชลประทานระบบท่อไม่มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะต้นทุน ค่าซ่อมบำรุง ค่าปิดเปิดน้ำ ค่าท่อที่ต้องสั่งจากอิสราเอล ซึ่งตกไร่ละ 5 หมื่น - 1 แสนบาท และยังไม่รวมค่าไฟสูบน้ำของเกษตรกรรายย่อย หรือค่าไฟสูบน้ำจากน้ำโขงในอนาคต

อกนิษฐ์ ย้ำว่า เบื้องหลังปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุคือการครอบงำภูมิปัญญา ความรู้ ที่ไปเลียนแบบอเมริกา ซึ่งเป็นชลประทานทางราบ เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยที่เกษตรกรเป็นรายย่อย จึงไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสานมี 3 ลักษณะ ที่ราบริมแม่น้ำ ที่สูง ลอนคลื่น และบนที่รายที่สูงยังมีแบบลอนคลื่นอีก ดังนั้น ถ้าจะเอาชลประทานแบบรวมศูนย์การจัดการจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากที่จะเปลี่ยนความคิดของกรมชลประทาน ที่เน้นระบบชลประทานขนาดใหญ่ มันต้องเป็นการจัดการน้ำแบบกระจายตัว มีระบบชลประทานที่ชาบบ้านทำได้เต็มไปหมด เช่น ลำตะคาว จ.ชัยภูมิมีฝายระหัดวิดน้ำอยู่ 14 ตัว ทำไร่ 7 ราย ระบบนี้เป็นระบบที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ

นักวิชาการโต้มายาคติ "อีสานแล้ง" ลั่นถึงเวลากระจายการจัดการน้ำ

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า อีสานไม่ใช่มีแค่น้ำแล้ง แต่มีน้ำท่วมทุกปีด้วย อย่างนั้นเราต้องมีทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยอย่างแรกต้องตอบคำถามก่อนว่าอีสานแล้งจริงหรือไม่ คนรุ่นผมยังได้เห็นป่าของภาคอีสาน ถึงวันนี้ผมเจอแต่ป่ามันสำปะหลังกิโลกรัมละ 5 บาท

ข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณฝนในภาคอีสานนั้น พบว่า 1 ปี มีปริมาณน้ำจากน้ำฝนรวมกว่า 2 แสนล้านลบ.ม. กักเก็บไม่ได้กลายเป็นน้ำท่าจำนวน 60,000 ล้านลบ.ม. เป็นอ่างเก็บน้ำ 7,000 ล้านลบ.ม. อีสานขาดน้ำอยู่ประมาณ 4,000 ล้านลบ.ม. ขณะที่น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปีละ 30,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการกักเก็บน้ำอย่างไร จากข้อมูลในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่แล้งในภาคอีสาน ปริมาณฝนที่แย่ที่สุดในภาคอีสานคือแถบโชคชัย แต่โดยรวมก็เกิน 1,500 มิลลิเมตร/ปี ขณะที่ปี 2548 คนคิดว่าอีสานแล้ง แต่ความจริงไม่ได้แล้ง ฝนมาตกเอาตอนท้ายฤดูคือกันยายน-ตุลาคม และฝนก็อยู่ในช่วงประมาณ 2 00,000 ล้านลบ.ม.

"ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคอีสานที่มีความจุประมาณ 7,800 ล้านลบ.ม. ชลประทานก็ทำได้ตามแผนเกือบทุกปี ประเด็นคือฝนที่ตกกลายเป็นน้ำท่าไปทั้งหมด ถามว่าจะเอามาจำนวนนี้ไปเก็บไว้ได้ไหม แต่สิ่งที่ทุกคนกลัวคือถ้าเอาน้ำไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำใหญ่ๆ จะไปกดชั้นเกลือให้ออกมาด้วย"

สิ่งที่ขาดคือการพัฒนาแผนพัฒนาแหล่งน้ำคือการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เบื้องต้นได้มีการทดลองร่วมกับกรมชลประทาน มูลนิธิโคคาโคลาประเทศ มูลนิธินิเวศพัฒนา สมาคมพัฒนาประชากร ที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 3 หมู่บ้าน พื้นที่ 3,700 ไร่ ใช้เงินไป 3 ล้านกว่าบาท สิ่งที่ทำคือเอาการรูปแบบการจัดการน้ำในสมัยสุโขทัย และของกระเหรี่ยงมาประยุกต์ ขุดคลองขวางตามแนวลาดชัน ทำให้น้ำท่าไหลเข้ามา และมีพื้นที่แก้มลิงรองรับ สิ่งที่คิดว่ามันจะเก็บน้ำไม่อยู่ปรากฏว่ามีตะกอนไหลมาพร้อมช่วงน้ำหลาก ประมาณส.ค.-ก.ย. ใน 1 ปีมันมาอุดช่อง เก็บน้ำเต็มความจุของสระซึ่งมีขนาด 60,000 ลบ.ม. ความจุของคลองประมาณ 90,000 ลบ.ม. รวมทั้งหมด 160,000 ลบ.ม. พอที่จะป้อนตอนฝนทิ้งช่วงได้ 1-2 เดือน ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนที่จะสระน้ำในไร่นาต่อไป

ปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานมันเพียงพอ แต่ก็สุดวิสัยที่หน่วยงานรัฐจะทำได้ ต้องอาศัยชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นลงมาเป็นเจ้าของน้ำในระบบชุมชนที่จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบชลประธาน โครงการจะมีขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วพื้นที่เป็นหมื่นเป็นแสนที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ซึ่งหากเป็นแหล่งขนาดใหญ่ในที่ที่มีเกลือ อาจกดผลักให้ความเค็มกระจายขึ้นข้างบนได้ ในด้านงบดำเนินการเชื่อว่าส่วนหนึ่งมีอยู่แล้วคืองบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ปีละ 4 แสนล้าน จากตัวอย่างของ 3หมู่บ้านนี้ใช้งบ 3 ล้านบาท หากจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นเพียงร้อยละ10 มาทำเรื่องน้ำ แน่นอนบางแห่งอาจจะล้มเหลว แต่ความสำเร็จในหลายพื้นที่ของภาคอีสานก็เป็นตัวอย่างได้ดีในการมองจากล่างขึ้นบน ดร.รอยล ขมวดประเด็นท้าทายความเชื่อและแนวทางของรัฐบาล ซึ่งจะเข้าหูและนำไปสู่การเปลี่ยนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า วาระในการหยิบยกเรื่อง "การผันน้ำโขง" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งทำไปเพื่อสนองประโยชน์ของคนกลุ่มใดกันแน่.

อนึ่งโครงการโขง – ชี – มูล เป็นโครงการก่อสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อเก็บกักและกระจายน้ำไปสู่ไร่นาให้กับเกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 เพื่อสร้างพื้นที่ชลประทาน 4.89 ล้านไร่ โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 42 ปี รวมงบประมาณ 228,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการดำเนินงานได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และได้ก่อปัญหาให้กับวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จาก

การตัดสินใจดำเนินงานโครงการโขง – ชี – มูล ระยะที่ 1 อย่างรีบร้อน รวบรัด โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำดังกล่าวเกิดปัญหาในหลายเรื่องหลายครั้ง ขณะที่โครงการโขง – ชี – มูล ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวน 10,346 ล้านบาท ซึ่งมีการทักท้วงจากนักวิชาการตลอดเวลาที่ผ่านมา ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ การแพร่กระจายของดินเค็ม ความเสียหายต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ การแพร่กระจายของหอยบางชนิดที่เป็นพาหะของโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น

โครงการโขง – ชี – มูล และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมายังก่อปัญหาให้กับวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติอยู่เสมอ อาทิเช่น ปัญหาการแพร่กระจายดินเค็ม น้ำเค็ม เกิดขึ้นรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่เขื่อนราศีไศล และหนองหานกุมภวาปี จนไม่สามารถนำน้ำมาทำการเกษตรได้ และมักพบว่าพื้นที่น้ำท่วมของโครงการเกินเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่โครงการระบุไว้ พื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยบ้าง ไม่ได้รับบ้างและไม่พอเพียงกับความเสียหายที่ได้รับจากโครงการโขง – ชี – มูล ระยะที่ 1 มีพื้นที่ชลประทานที่ใช้ได้จริงเพียง 900 ไร่ ใน 14 โครงการ จากที่ตั้งเป้าหมายพื้นที่ชลประทานไว้ 5 แสนไร่

โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายลุ่มน้ำอีสานได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จังหวัดนครพนม 21 กุมภาพันธ์ 2547 มีดังนี้

1. กรณีแม่น้ำสายใดที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนหรือโครงการระบบท่อน้ำ รัฐบาลต้องปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระตามธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน และการใช้เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกัน

2. รัฐบาลต้องศึกษาทบทวนและประเมินผลประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว โดยมีกลไกการศึกษาที่เป็นอิสระก่อนที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคต

3. รัฐบาลต้องให้ความเคารพไม่ละเมิดสิทธิการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการกำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน ต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ ร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจมากกว่าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

4. โครงการพัฒนาหรือนโยบายการจัดการน้ำใดๆ ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศที่หลากหลายภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับกายภาพและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

5. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับทางเลือกการจัดการน้ำ หรือการพัฒนา แหล่งน้ำในโครงการขนาดเล็ก ที่กระจายอยู่ใกล้ชุมชน เพื่อง่ายแก่การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของเกษตรกรมากกว่าการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่

6. รัฐบาลต้องให้สิทธิชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ (ป่าโคก ป่าทาม) ห้วยหนอง และสัตว์น้ำตามธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น

7. รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันที่ชัดเจนที่จะไม่ให้การลงทุนสาธารณะด้านแหล่งน้ำ ต้องถูกแปรไปเป็นสิทธิประโยชน์ของเอกชนหรือบริษัทหรือบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ได้มีการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำชี มีการสร้างเขื่อน ในแม่น้ำชีเพื่อเก็บกักน้ำแล้วผันน้ำต่อไปในลำน้ำมูล และในแม่น้ำมูลก็มีการสร้างเขื่อน เช่นกัน ประมาณ 6 – 7 เขื่อน ซึ่งได้ก่อสร้างไปแล้วส่วนใหญ่

อนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง และประชาชนยากจน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบในระดับความสูงระหว่าง 150 – 250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีทิวเขาเป็นขอบกั้นออกจากภาคกลางและภาคตะวันออกอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร และมีการทำนาปรังเหมือนกับเกษตรกรในภาคอื่นๆ ขณะที่ภาคอีสานมีพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนา แต่ทั้งภาคมีเพียงแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง และมีแม่น้ำย่อยบ้าง เช่น ลำปลายมาศ แม่น้ำสงคราม แม่น้ำลำโดมน้อย ลำโดมใหญ่ เป็นต้น


ที่มา : ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม (117.47.172.8) [2008-03-11 17:18:46]

 

 

 



Your E-mail and More On-the-Go. Get Windows Live Hotmail Free. Sign up now.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น