เขียนโดย
Prachoom
on
วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552
เรียนพี่น้องเกษตรกร/ชาวนาและสมัชชาคนจนบนเขื่อนราษีไศลที่นับถือ.
ผมเห็นด้วยตามหัวข้อของการสัมนาที่ว่า "การเมืองปมปัญหาแก้น้ำ
ล้นน้ำแล้งล้มเหลว"
และผมก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ทุกฝ่ายได้นำเสนอ แต่ปัญหา
อยู่ที่รัฐบาลที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน ท่านจะเอาด้วยหรือไม่เท่านั้น ถ้า
รัฐบาลเป็นของประชาชน ปัญหาเขื่อนต่างๆก็จะได้รับการแก้ไขไปนานแล้วครับ
ทำไม? ครับ ส.ส. และรัฐบาลจึงชอบคิดแทนชาวบ้าน ผู้ซึ่งอยู่ชิดติดปัญหา
และรู้ปัญหาเป็นอย่างดี กลับไม่มีไคร?ฟังชาวบ้านเลยครับ.
พี่น้องครับกรุณาอ่านความคิดเห็นของนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์
วัชระที่ว่า.-
" นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นักวิชาการ ข้าราชการ ชาวบ้าน สื่อ ต้องมาร่วมมือกันถึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้ หมดเวลาของการก่อม็อบประท้วงขัดแย้งรุนแรงแล้ว ต้องมาเน้นสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการ"ป้องกัน" ไม่ให้เกิดการ"ทำลาย"ทรัพยากร กรรมการสิทธิฯก็จะทำหน้าที่นี้ เสนอให้ สกว.เป็นเจ้าภาพ คนในพื้นที่เป็นเลขาฯขับเคลื่อน เชื่อมทุกภาคส่วนมาช่วยกัน จึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน"
พวกเราติดต่อและประสานงานกับนายแพทย์นิ
รันดร์ พิทักษ์วัชระ กันดีไหม?ครับ.
ด้วยจิตรคารวะ
ประชุม สุริยามาศ. วย.๗๗๗
นักบริหารลุ่มน้ำชี้การเมืองปมปัญหาแก้น้ำล้นน้ำแล้งล้มเหลว
October 21, 2009
อุบลราชธานี-นักวิจัยลุ่มน้ำร่วมวิเคราะห์ปัจจัยการแก้ปัญหาน้ำมาก น้ำน้อย น้ำเสีย จังหวัดอุบลราชธานีไม่ไปไหน เพราะการเมืองดึงเกม แนะต้องนำการบริหารทรัพยากรน้ำเข้าแผนพัฒนาฉบับหน้า เพื่อเป็นแรงผลักดัน ด้านหมอนิรันดร์ นักสิทธิชุมชนเน้นชาวบ้านร่วมป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายน้ำ
ที่ห้องบัวทิพย์ 1 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี จัดประชุมค้นหารูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและเสวนาการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำประมาณ 60 คน
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน่วยงานจัดการทรัพยากรน้ำมีมาก แต่ไม่ได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่เวลาประชาคม ชาวบ้านอยากได้น้ำ แต่พอผ่านผู้แทนที่ไรได้ถนนกลับมาทุกที จึงมีความเห็นว่าการรวมตัวของประชาชนสร้างความเข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่ให้นโยบายข้างบนมาครอบงำ ต้องทำในสิ่งที่ชาวบ้านอยากทำ จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้
ด้าน
ดร.อินธิรา ซาฮีร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นด้วยกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่หน่วยงานจัดการน้ำไม่มีเอกภาพ แม้มีเงินใช้จ่ายมาก แต่ไม่บูรณาการแผน และควรใช้ จ.อุบลราชธานี เป็นต้นแบบลองบริหารร่วมกัน เพราะ จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดปลายน้ำกลายเป็นที่รวมของน้ำเสียมาจากทุกที่ ถ้ามีการวางแผนทำงานแบบบูรณาการน้ำทั้งระบบน่าจะแก้ปัญหาได้
ขณะเดียวกันนายวิสูตร อยู่คง นักวิชาการป่าไม้ เสนอให้มีกระบวนการจัดการป่าทามในเขตบ้านวังยางให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นป่าทามขนาดใหญ่สามารถใช้เป็นแหล่งกรองน้ำเสียในแม่น้ำมูล แม่น้ำชีได้เป็นอย่างดี หากประกาศให้พื้นที่เป็นแหล่งชุ่มน้ำระดับจังหวัดจะเป็นอานิสงส์ของจังหวัด เพราะสามารถใช้พื้นที่ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ระดับหนึ่ง
สำหรับนายสมาน มานะกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุบลราชธานี ระบุว่า หลายครั้งมีการออกแบบบริการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับนักวิจัย ร่วมกับชาวบ้าน มีการลงดูพื้นที่ควรทำ หรือไม่ควรทำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขออนุมัติงบประมาณ แต่นักการเมืองไม่เอาด้วย เพราะต้องการเอางบประมาณไปใช้ในพื้นที่ที่มีหัวคะแนนอยู่ การบริหารจัดการน้ำเลยไม่ตรงจุดประสงค์
จึงต้องช่วยกันคิดจะดำเนินแผนให้ตรงกับกลุ่มผู้ต้องใช้น้ำจริงๆได้อย่างไร และมีความเห็นต้องร่วมกันผลักดันให้การบริหารจัดการน้ำเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับหน้า เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้นด้วย
ด้าน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นักวิชาการ ข้าราชการ ชาวบ้าน สื่อ ต้องมาร่วมมือกันถึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้ หมดเวลาของการก่อม็อบประท้วงขัดแย้งรุนแรงแล้ว ต้องมาเน้นสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากร กรรมการสิทธิฯก็จะทำหน้าที่นี้ เสนอให้ สกว.เป็นเจ้าภาพ คนในพื้นที่เป็นเลขาฯขับเคลื่อน เชื่อมทุกภาคส่วนมาช่วยกัน จึงสามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน นอกจากการจัดเสวนาเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำ ยังมีการนำเสนอผลงานการไขปัญหาน้ำตามชุมชน โดยใช้แนวคิดผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การใช้ระบบผันน้ำแอร์แว ของชาวบ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร ซึ่งได้รับรางวัลโครงการวิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ให้ผู้สนใจได้ชมด้วย
ทึ่งระบบ"แอร์แว" ภูมิปัญญาชาวบ้าน |
รายละเอียด |
ทึ่งระบบ"แอร์แว" ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นปัจจัยหลักในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ในพื้นที่ภาคอีสานมีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แม้ภาครัฐพยายามทุกหนทางที่จะพัฒนาปรับปรุง การกักเก็บน้ำ การผันน้ำ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ แต่ความช่วยเหลือยังคงไปไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ บ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในฤดูแล้ง ทั้งที่หมู่บ้านตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำโขง เหตุเพราะเป็นพื้นที่สูงชัน ตั้งบนหน้าผาของแม่น้ำโขงมีความสูงเฉลี่ยราว 35 เมตร แหล่งน้ำดิบในพื้นที่ทำเกษตรกรรม และใช้ในครัวเรือน มีประชากร 135 ครอบครัว จำนวน 562 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และทำประมงริมน้ำโขง มีเพียงบ่อน้ำตื้นจำนวน 4 บ่อ และน้ำจากบุ่งพระละคอน บึงธรรมชาติเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ในฤดูน้ำหลากชาวบ้านใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น และน้ำจากบุ่งพระละคอน แต่ในฤดูแล้งชาวบ้านต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เพราะบ่อน้ำตื้นจะแห้งขอด ส่วนน้ำจากบุ่งพระละคอนเครื่องสูบน้ำไม่สามารถส่งน้ำขึ้นมาให้ใช้ได้ เพราะระดับน้ำต่ำลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ทำให้เครื่องสูบน้ำที่มีแรงดันน้อย ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านได้ ชาวบ้านต้องลงไปหาบน้ำจากบุ่งพระละคอนขึ้นมาใช้ โดยจัดเรียงตามคิว เพื่อแบ่งปันน้ำให้มีใช้กันอย่างทั่วถึง และกว่าเด็กนักเรียนที่ไปช่วยพ่อแม่หาบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน จะเข้าเรียนได้เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบเที่ยงวัน ทำให้ทางโรงเรียนบ้านผาชัน ต้องจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้เด็กในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากความยากลำบากดังกล่าว ชาวบ้านจึงพยายามหาวิธีในการนำน้ำจากบุ่งพระละคอน ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งให้สะดวกมากขึ้น ด้วยการรวมกลุ่มระดมภูมิปัญญาชาวบ้าน ร่วมแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแบบถาวร รวมถึงติดต่อขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและดูงานของชาวบ้านผาชัน ระยะเริ่มแรกของการระดมมันสมองตามรูปแบบประชาคมหมู่บ้าน กว่าชาวบ้านจะพร้อมใจ และเห็นความสำคัญต่อการจัดการปัญหาน้ำกินน้ำใช้ใช้เวลาไปร่วม 6 เดือน โดยระหว่างนั้นมีการไปศึกษาดูงานจากหลายที่ ซึ่งเคยประสบปัญหาขาดน้ำกินน้ำใช้ และแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงไปแล้ว อาจารย์กล พรมสำลี อาจารย์โรงเรียนบ้านผาชัน เล่าว่า การเข้าไปดูการแก้ไขปัญหาน้ำของแต่ละพื้นที่ พบว่าภูมิประเทศแต่ละแห่งไม่เหมือนที่บ้านผาชัน บางแห่งใช้เงินทุนในการผันน้ำขึ้นมาใช้จำนวนหลายล้านบาท มากเกินกำลังของชาวบ้านที่ต้องการช่วยเหลือตัวเอง จึงตัดสินใจหันกลับมาใช้วิธีใช้เครื่องสูบน้ำส่งน้ำขึ้นมาในหมู่บ้านตามเดิม แต่ยังคงประสบปัญหาแบบเดิม คือ ใช้ได้เพียง 2-3 เดือนเครื่องสูบน้ำก็ไหม้เสียหายอีก กระทั่งการประชุมประชาคมหมู่บ้านในครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ขณะกำลังใช้สายยางรดน้ำต้นไม้เห็นว่าสายยางมีรูรั่ว จึงพับสายยางไว้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลทิ้ง พบว่าน้ำกลับมีแรงดันเพิ่มขึ้น น่าจะนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำได้ ที่ประชุมจึงทดลองนำท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ตัดต่อเข้ากับท่อพีวีซีที่ใช้เป็นท่อส่งน้ำเข้าหมู่บ้าน แต่แรงดันน้ำก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คิดกันไว้ และกลับทำให้เครื่องสูบน้ำพังเร็วกว่าปกติอีก แต่กลุ่มชาวบ้านที่เป็นนักคิดค้นประดิษฐ์ยังไม่ท้อถอย พยายามใช้วิธีดังกล่าวทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งมีผู้เสนอว่าจะทดลองนำวิธีการสูบลมเข้า-ออก ของช่างตีเหล็กมาลองใช้ดู ด้วยเหตุผลว่า การตีเหล็กของช่างเหล็กต้องเป่าลมเข้าไปในเตาไฟ เพื่อเร่งถ่านให้ไฟลุกโชนใช้หลอมละลายเหล็กในระดับที่ต้องการ และการเป่าลมของช่างตีเหล็กจะมีคันโยกใช้สูบลมสลับกันไปมา กลุ่มชาวบ้านจึงนำท่อพีวีซีมาเชื่อมต่อกับท่อใช้ส่งน้ำจาก 1 ท่อให้เป็น 2 ท่อ ทิ้งระยะห่างกันราว 0.30 เมตร เมื่อทดลองสูบน้ำให้ไหลผ่าน พบว่าเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่างท่อน้ำ 2 ท่อ คือ ในท่อน้ำขนาดความยาว 1 เมตร จะมีน้ำอยู่ราว 60 เซนติเมตร ส่วนที่เหลืออีก 40 เซนติเมตรจะเป็นอากาศ ท่อน้ำทั้ง 2 ท่อ ทำหน้าที่คล้ายลูกสูบ คือ อากาศจะไหลเวียนสลับผ่านท่อน้ำหนึ่งส่งต่อไปยังอีกท่อน้ำหนึ่ง เมื่อท่อน้ำท่อใดมีอากาศอัดแน่น ท่อจะทำหน้าที่ดันน้ำให้ไหลไปหาที่ว่าง นั่นคือถังใช้เก็บน้ำของหมู่บ้าน โดยไล่ลำดับกันไปเป็นทอดๆ ส่วนอากาศที่เข้ามาอยู่ในท่อได้ เพราะถูกดูดขึ้นมาพร้อมกับน้ำ แต่ก่อนที่ไม่มีการติดตั้งท่อให้มีช่องว่างของอากาศ เมื่อเครื่องสูบน้ำดูดอากาศเข้ามาอยู่ในท่อ และอากาศถูกอัดจนแน่น ทำให้เกิดเป็นสุญญากาศดันกลับมาที่เครื่องสูบน้ำ จึงทำให้แรงดันน้ำลดลงเรื่อยๆ และมีผลทำให้เครื่องสูบน้ำไหม้ดังกล่าว การค้นพบระบบกลไกหมุนเวียนของอากาศโดยบังเอิญครั้งนี้ ชาวบ้านตั้งชื่อระบบนี้ว่า "แอร์แว" มีความหมายอย่างตรงตัว "แอร์" ในภาษาอังกฤษหมายถึง อากาศ ส่วนคำว่า "แว" เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า "เวียน" เมื่อรวมกัน "แอร์แว" คือ อากาศที่แวะเวียนไปเวียนมาอยู่ในท่อน้ำ หลังการค้นพบระบบหมุนเวียนของอากาศภายในท่อส่งน้ำพีวีซี ทำให้บ้านผาชันไม่ต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และยังมีน้ำใช้ทำเกษตรกรรมในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ระบบ "แอร์แว" ที่กลุ่มชาวบ้านผาชันใช้ภูมิปัญญาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง ยังได้รับคัดเลือกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จาก 1,200 โครงการ ให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ชนะเลิศอันดับ 1 ในสิ่งประดิษฐ์ 8 ชนิด ที่ส่งเข้าร่วมประกวดในปี 2550 ด้วย ที่สำคัญ "แอร์แว" เป็นระบบที่ขจัดปัญหาเรื่องน้ำที่เกษตรกรทุกคนสามารถผลิตใช้ได้เอง เพราะมีราคาเพียง 800 บาท เท่านั้น
| | | |
Windows 7: Simplify your PC.
Learn more.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น